หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
ระดับไขมันในเลือดปกติแล้วหยุดยาได้มั้ย
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาพี่ชายของผู้เขียน (ภญ.อัมพร จันทรอาภรณ์กุล) ซึ่งมีอายุเพียง 30 ปี มีอาการเจ็บแน่นหน้าอกอย่างมาก จึงไปรับการตรวจที่โรงพยาบาล แพทย์ได้ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจพบว่ามีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จึงให้ นอนพักรอดูอาการที่ห้อง CCU ซึ่งคล้ายกับ ICU ที่ดูแลผู้ป่วยกลุ่มโรคหัวใจเป็นพิเศษ แพทย์แจ้งว่าสาเหตุที่พี่ชายของดิฉันมีอาการดังกล่าวแม้เพียง อายุได้เพียง 30 ปี เนื่องจากมีภาวะน้ำหนักเกิน คือ สูง 173 เซนติเมตร แต่มีน้ำหนักมากถึง 98 กิโลกรัม และมีพฤติกรรมเสี่ยงชอบรับประทานอาหารที่มี โคเลสเตอรอลสูงเป็นระยะเวลานานนับ 10 ปี เหตุการณ์ นี้ทำให้บรรดาญาติพี่น้องทุกคนช็อกไปตามๆ กัน การที่ดิฉันนำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟัง เนื่องจากต้องการให้เห็นภาพว่าปัจจุบันประเทศไทยเรานับวันจะมีวิถีชีวิตคล้ายประเทศตะวันตกมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้คนเป็นโรคไขมันในเลือดสูงมีจำนวนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

มี ผู้ที่เป็นโรคหัวใจที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงหลายท่าน หลังจากที่ได้รับการรักษาด้วยยาลดไขมันในเลือดไประยะหนึ่งจนระดับไขมันเป็นปกติ จะมาถามดิฉันว่า “คุณหมอบอกว่าไขมันในเลือดปกติแล้ว ทำไมต้องกินยาลดไขมันต่ออีก หยุดกินได้มั้ย กินบ้างไม่กินบ้างได้มั้ย” แม้กระทั่งพี่ชายดิฉันที่ยังนอนอยู่ใน CCU ยังมิทันที่ไขมันในเลือดจะลดระดับลงเป็นปกติยังมีความสงสัยว่าจะต้องกินยาไปถึงเมื่อไหร่ ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่หยุดยาเองโดยมิได้แจ้งให้แพทย์ทราบจนทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่องในระยะยาว ดังนั้นผู้ที่ได้รับยาลดไขมันในเลือดควรได้รับความกระจ่างในเรื่องนี้เพื่อการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง และก่อนจะตอบคำถามนี้ดิฉันจะขออธิบายเรื่องโรคนี้คร่าวๆ ก่อนนะคะ

โคเลสเตอรอลคืออะไร

โคเลสเตอรอล คือ สารไขมันคล้ายขี้ผึ้งที่ปรากฏอยู่ในทุกเซลล์ของร่างกาย โคเลสเตอรอลบางชนิดจำเป็นต่อการทำงานของร่างกายโดยทำหน้าที่เป็นส่วนประกอบ ของผนังเซลล์ในร่างกาย และเป็นส่วน-ประกอบสำคัญของฮอร์โมนบางชนิดที่จำเป็นของร่างกาย

ไขมันในเลือดมีกี่ชนิด

ไขมันในเลือด หรือโคเลสเตอรอลมี 3 ชนิด คือ

 
•
แอล ดี แอล โคเลสเตอรอล (LDL) เปรียบเสมือน “ตัวผู้ร้าย” ถ้ามีปริมาณมากจะสะสมอยู่ในหลอดเลือดแดง เป็นต้นเหตุของโรคหลอดเลือดแดงแข็ง ยิ่งระดับแอล ดี แอล โคเลสเตอรอลสูงมากเท่าไหร่ อัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น
 
•
เอช ดี แอล โคเลสเตอรอล (HDL) เปรียบเสมือน “ตำรวจ” คอยจับผู้ร้าย เพราะเป็นตัวกำจัดแอล ดี แอล โคเลสเตอรอล ออกจากหลอดเลือดแดง การมีระดับเอช ดี แอล โคเลสเตอรอลสูง จึงช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Heart Disease)
 
•
ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride หรือ TG) เป็นไขมันอีกประเภทหนึ่งในกระแสเลือด เปรียบเสมือน “ผู้ช่วยผู้ร้าย” คนที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์สูง พร้อมกับระดับเอช ดี แอล โคเลสเตอรอลต่ำ หรือแอล ดี แอล โคเลสเตอรอลสูง ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ

โคเลสเตอรอลในร่างกายมาจากไหน

 
•
ตับของร่างกายเราสร้างขึ้น โดยทั่วไปตับจะทำหน้าที่สร้างโคเลสเตอรอลได้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย
 
•
อาหารที่รับประทานเข้าไป ถ้ารับประทานอาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูงเป็นนิสัย ก็อาจเกิดโทษต่อ สุขภาพได้จากโคเลสเตอรอลส่วนเกินที่สะสมอยู่ในร่างกายโดยเฉพาะในหลอดเลือด

อะไรทำให้โคเลสเตอรอลสูง

มาจากพฤติกรรมการบริโภคของแต่ละคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารไขมันสูง นอกจากนี้เรื่องของกรรมพันธุ์ และโรคเบาหวานยังมีส่วนเกี่ยวข้องอีกด้วย

โคเลสเตอรอลสูงก่อให้เกิดโรคหัวใจได้อย่างไร

ปกติหลอดเลือดจะมีผิวเรียบสม่ำเสมอ แต่เมื่อมี แอล ดี แอล มาจับที่ผนังหลอดเลือดเป็นเวลานานจนกระทั่งพอกตัวหนาขึ้นๆ ก้อนไขมันที่สะสมที่ผนังหลอดเลือดนี้เราเรียกว่า พลัค (plaque) ซึ่งการ-ก่อตัวของพลัคทำให้หลอดเลือดตีบลง ดังนั้นหัวใจจึงต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดให้เคลื่อนที่ผ่านไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ของร่างกายได้ ก้อนพลัคนั้นสามารถขวางกั้นระบบไหลเวียนเลือดในหลอดเลือด และยังสามารถปริแตกตัวออกมาทำให้เกิดลิ่มเลือดแข็งตัวอุดตันบริเวณพลัคนั้น และเมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจหรือสมอง จะทำให้อวัยวะส่วนนั้นขาดเลือด เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด หรืออัมพาตจากสมองขาดเลือดได้

โคเลสเตอรอลเท่าไรที่เรียกว่าสูง

วิธีดูว่าใครมีโคเลสเตอรอลสูง ทางการแพทย์จะเทียบกับ ค่าระดับ แอล ดี แอล ซึ่งค่าดังกล่าวขึ้นกับว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจหรือเป็นโรคเบาหวาน หรือไม่ถ้ายังไม่เป็นโรคดังกล่าว ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องคำนึงในการจัดระดับแอล ดี แอล มีอยู่ 6 ประการ

 
•
อายุ ชายเกิน 45 ปี หญิงเกิน 55 ปี
 
•
มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจก่อนวัยอันควร (ชายก่อนอายุ 55 ปี หญิงก่อนอายุ 65 ปี)
 
•
ความดันโลหิตสูง
 
•
โรคเบาหวาน
 
•
สูบบุหรี่
 
•
ค่าเอช ดี แอล น้อยกว่า 40 มก.ต่อดล.

ทำไมต้องรับประทานยาลดไขมันในเลือด

ไขมันโคเลสเตอรอลสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แอล ดี แอล เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคหัวใจขาดเลือดและพบว่ามีการศึกษาวิจัย ยืนยันประสิทธิภาพการรักษาด้วยยาลดไขมันโดยเฉพาะยาในกลุ่ม สเตติน (Statins) ว่าหลังได้รับยาแล้วผู้ป่วยไขมันโคเลสเตอรอลสูงที่เป็นโรคหัวใจ มีอัตราการเสียชีวิตโดยรวมจากโรคหัวใจและโรค หลอดเลือดลดลงมาก

เมื่อไรต้องรับประทานยาลดไขมันโคเลสเตอรอล

การควบคุมอาหารเต็มที่จะลดระดับโคเลสเตอรอลได้ประมาณร้อยละ 10-15 ซึ่งอาจเพียงพอในผู้ที่มีไขมันสูงบางราย ในขณะที่อาจไม่เพียงพอในผู้ที่เป็นเบาหวานหรือผู้ที่เป็นโรคหัวใจที่ควรให้ แอล ดี แอล ต่ำกว่า 100 มก.ต่อดล. ดังนั้นการพิจารณาใช้ยาจึงขึ้นกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของระดับไขมันโคเลสเตอรอล และดุลยพินิจของแพทย์ อย่างไรก็ตามการรับประทานยาเป็นเพียงการลดโอกาสการเกิดโรค หรือผลแทรกซ้อนทางเลือดเท่านั้น มิได้ป้องกันการเกิดโรค ดังนั้น การรักษาด้วยยาจึงต้องควบคู่ไปกับการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย การลดปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ และอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างต่อเนื่อง

ต้องรับประทานยาลดไขมันในเลือดไปนานเท่าไร

มาถึงคำตอบที่รอคอยนะคะ การให้ยาลดไขมันหรือโคเลสเตอรอลในเลือดนั้น มีจุดมุ่งหมายมิใช่เพื่อการลดระดับไขมันในเลือด เท่านั้น แต่หวังผลในการลดการสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือดแดงหรือหลอดเลือดหัวใจ ที่สะสมมาตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นซึ่งก็นานนับสิบๆ ปีกว่าจะทำให้เกิดอาการ ดังนั้นหากต้องการให้ไขมันในผนังหลอดเลือดที่สะสมอยู่ลดลง ก็ต้องใช้เวลานานหลายปีเช่นเดียวกัน ประโยชน์จากการลดไขมันโคเลสเตอรอลจะเห็นได้ก็ต่อเมื่อ ระดับแอล ดี แอล ลดต่ำลงเป็นระยะเวลานานอย่างต่อเนื่อง เช่น อย่างน้อย 5 ปี (หรือตลอดชีวิต) นอกจากนี้การรับประทานยาไม่สม่ำเสมอจะไม่สามารถลดระดับไขมันให้ต่ำอย่างต่อเนื่องก็จะไม่ได้ประโยชน์จากยา ดังนั้นการรับประทานยาอย่างต่อเนื่องจึงมีความ-สำคัญอย่างยิ่ง

ตารางแสดงค่าปัจจัยเสี่ยง
ชื่อโคเลสเตอรอล ระดับค่า
แอล ดี แอล
• เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือเป็นโรคเบาหวาน ควรต่ำกว่า 100 มก./ดล.
• ไม่มีหลอดเลือดโรคหัวใจและโรคเบาหวานแต่มีปัจจัยเสี่ยงตั้งแต่ 2 ข้อขึ้นไป
ควรต่ำกว่า 130 มก./ดล.
•ไม่มีโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคเบาหวานและมีปัจจัยเสี่ยงน้อยกว่า 2 ข้อ ควรต่ำกว่า 160 มก./ดล.
ไตรกลีเซอไรด ควรต่ำกว่า 150 มก./ดล.
เอช ดี แอล ควรสูงกว่า 40 มก./ดล.

สรุปว่าการรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลในการลดการสะสมของไขมันในหลอดเลือดแดง และลดปัญหาแทรกซ้อนทางหลอดเลือดที่อาจเกิดขึ้น แต่การรับประทานยาอย่างต่อเนื่องนั้นยังมิใช่คำตอบสุดท้ายของการรักษานะคะ การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย งดสูบบุหรี่ การควบคุมความดันโลหิตในคนที่มีความดันโลหิตสูง และการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ที่เป็นเบาหวาน ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำควบคู่กันไปค่ะ

 
       
    แหล่งข้อมูล : นิตยสาร - HealthToday  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
Cholesterol - Triglycerides and Healthy Heart
 
กรดไขมันในอาหารมีผลต่อระดับคอเลสเตอรอลในเลือด
 
ไขมันในเลือดสูง
 
อาหารผู้ป่วยไขมันในเลือดสูง
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.