หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
ภาวะไขมันในเลือดสูง
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


อาหารประเภทไขมัน เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับร่างกาย นอกจากจะให้พลังงานแล้ว ยังมีกรดไลโนเลอิค ซึ่งเป็นกรดไขมันจำเป็นสำหรับร่างกาย ช่วยในการดูดซึมวิตามินต่างๆ ฉะนั้น เราจึงจำเป็นต้องรับประทานอาหารประเภทไขมัน แต่ปริมาณไขมันที่ได้รับไม่ควรเกิน ร้อยละ 25 –30 ของพลังงานทั้งหมด ที่ได้รับจากสารอาหาร เพราะเมื่อรับประทานมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการแล้ว จะทำให้เกิดโรคอ้วน และภาวะไขมันในเลือดสูงได้

ภาวะไขมันในเลือดสูง เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดแข็งตัว ทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ของร่างกายไม่เพียงพอ ถ้าเกิดกับหัวใจหรือสมอง จะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคหัวใจวาย หรืออัมพาตได้

ไขมันในเลือดคืออะไร

ขมันในเลือด  หรือโคเลสเตอรอล เป็นสารที่มีอยู่ในอาหาร จำพวกเนื้อสัตว์ และผลิตผลของสัตว์ โดยปกติแล้วร่างกายคนเรา จะมีโคเลสเตอรอลอยู่แล้ว โดยได้มา 2 ทางคือ จากอาหารที่รับประทาน และจากการสังเคราะห์ของตับในร่างกาย

ไขมันในเลือดประกอบด้วย

โคเลสเตอรอล  เป็นสารไขมันที่ตับสร้างขึ้น เพื่อใช้ในการสร้างฮอร์โมนเพศเซลประสาท และน้ำดี  นอกจากนี้ ร่างกายยังได้รับโคเลสเตอรอล จากอาหารประเภทเนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์สัตว์ที่รับประทานอีกด้วย โคเลสเตอรอลในเลือด แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ

 
1.
โคเลสเตอรอลชนิดให้โทษ เรียก แอล.ดี.แอล. โคเลสเตอรอล ( LDL-C ) เป็นโคเลสเตอรอล ที่จะถูกสะสมไว้ตามผนังหลอดเลือดทั่วร่างกาย ทำให้หลอดเลือดแข็ง และตีบแคบอุดตัน เป็นสาเหตุของโรคหัวใจขาดเลือด หรือหลอดเลือดอุดตัน
 
2.
โคเลสเตอรอลชนิดให้คุณประโยชน์ เรียก เอช.ดี.แอล.โคเลสเตอรอล ( HDL-C ) ทำหน้าที่จับสาร
โคเลสเตอรอล ที่อยู่ตามผนังหลอดเลือด และนำกลับมาที่ตับเพื่อเผาผลาญเป็นกรดน้ำดี ทำให้ระดับ
โคเลสเตอรอลในเลือดไม่สูง และยังเชื่อว่า เอช
.ดี.แอล. โคเลสเตอรอล ช่วยป้องกัน ภาวะหลอดเลือดแดงแข็งและตีบได้

ไตรกลีเซอไรด์  เป็นสารอาหารประเภทไขมัน ที่เราบริโภคอยู่เป็นประจำ พบทั้งในพืชและสัตว์ ไตรกลีเซอไรด์ช่วยให้อาหารมีรสชาด และทำให้อิ่มท้องอยู่นาน ช่วยในการดูดซึมวิตามินเอ  ดี อี และเค และที่สำคัญคือไตรกลีเซอไรด์ เป็นสารที่ให้พลังงานที่สำคัญแก่ร่างกาย  แต่หากได้รับไตรกลีเซอไรด์จากอาหาร มากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ  ไตรกลีเซอไรด์จะถูกสะสมไว้ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย  ทำให้น้ำหนักเพิ่ม และอ้วนขึ้น

ไตรกลีเซอไรด์  นอกจากจะได้จากการบริโภคไขมันแล้ว  ตับยังสามารถสร้างไตรกลีเซอไรด์ จากอาหารประเภทแป้ง  น้ำตาล  และแอลกอฮอล์  ที่เราบริโภคเข้าไปอีกด้วย  ซึ่งจะอยู่ในสภาพไขมันชนิด  วี.แอล.ดี.แอล. (VLDL)

วี.แอล.ดี.แอล  นี้จะทำหน้าที่นำไตรกลีเซอไรด์ ที่ร่างกายสร้างขึ้น ไปไว้ตามผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแดงแข็งตัว

จะทราบได้อย่างไรว่ามีภาวะไขมันในเลือดสูงหรือไม่

การที่เราจะทราบว่าไขมันในเลือดสูงหรือไม่นั้น  จำเป็นต้องตรวจเลือด ในการตรวจเลือด ควรงดอาหารประมาณ  12-14  .ดังนั้น จึงนิยมให้งดอาหารทุกชนิด ยกเว้นน้ำเปล่า หลังอาหารเย็นจนถึงเช้า และมาเจาะเลือดก่อนรับประทานอาหารเช้า

 
•
ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดของคนปกติ ควรต่ำกว่า 200 มิลลิกรัม / เดซิลิตร
 
•
ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดของคนปกติ ควรต่ำกว่า 200 มิลลิกรัม / เดซิลิตร
 
•
ระดับเอช.ดี.แอล.  ในเลือด  ควรสูงกว่า  35  มิลลิกรัม / เดซิลิตร
 
•
ระดับแอล.ดี.แอล.  ในเลือด  ควรต่ำกว่า  130  มิลลิกรัม / เดซิลิตร

ไขมันในเลือดสูงอันตรายอย่างไร

เมื่อระดับโคเลสเตอรอลเหลือเกิน ความต้องการของร่างกาย จะสะสมอยู่ในเส้นเลือดเป็นเวลานาน  โคเลสเตอรอลจะจับเกาะ บริเวณผนังเส้นเลือด ทำให้เส้นเลือดแข็งตัว และเสียความยืดหยุ่น หรือไปอุดตันทางเดินโลหิต ทำให้หัวใจทำงานหนักมากขึ้น  เป็นสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง  โรดหัวใจ  ซึ่งอาจทำให้เป็นอัมพาต หรือเป็นอันตรายถึงชีวิตได้  หากเส้นเลือดในสมองแตกหรือเกิดหัวใจวาย

อาการเมื่อโคเลสเตอรอลในเลือดสูง

เมื่อระดับโคเลสเตอรอลในเลือด สูงมากเป็นระยะเวลานาน  โรคที่เกิดตามมาและพบบ่อยคือ โรคหัวใจ และหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งอาการเตือนอาจไม่เด่นชัดนัก คือ เหนื่อยง่ายขณะออกกำลัง  เจ็บหน้าอก พอพักจะดีขึ้น อาจมีอาการเจ็บหน้าอกร้าวไปแขนซ้าย หรือหลัง หากมีอาการแบบนี้ควรไปพบแพทย์ทันที

สาเหตุของภาวะไขมันในเลือดสูงเกิดจากอะไรบ้าง

 
1.
ความผิดปกติทางกรรมพันธุ์
 
2.
โรคอ้วน ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน หรือขาดการออกกำลังกาย
 
3.
โรคบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคไตบางชนิด ภาวะไตวายเรื้อรัง โรคตับ
 
4.
การรับประทานอาหารที่มีไขมันมาก โดยเฉพาะไขมันจากสัตว์
 
5.
รับประทานอาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูงเป็นประจำ
 
6.
รับประทานอาหารหวานจัด ขนมหวาน น้ำหวาน หรืออาหารที่มีน้ำตาลสูง
 
7.
ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ

ควบคุมอาหาร เพื่อควบคุมระดับไขมันในเลือด

 
1.
ลดการรับประทานอาหารไขมันอิ่มตัวสูง เช่น น้ำมันหมู หมูสามชั้น  เนย ครีม  น้ำมันมะพร้าว  น้ำมันปาล์ม อาหารที่ทำจากกะทิ เพราะกรดไขมันอิ่มตัวส่วนใหญ่ ทำให้ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น
 
2.
รับประทานไขมันไม่อิ่มตัวในปริมาณที่พอเหมาะ เช่น ใช้น้ำมันพืช , เนย-เทียมในการประกอบอาหาร แทนน้ำมันจากสัตว์ เพราะน้ำมันพืชที่สกัดจากเมล็ดพืช จะมีกรดไลโนเลอิก ที่เป็นตัวนำโคเลสเตอรอลไปเผาผลาญ สูงกว่าน้ำมันที่สกัดจากเนื้อพืช ซึ่งน้ำมันพืชที่ดี คือ น้ำมันมะกอก รองลงมาคือ น้ำมันถั่วเหลือง และน้ำมันข้าวโพด
 
3.
จำกัดปริมาณอาหาร ที่มีโคเลสเตอรอลสูง ไม่ควรรับประทานโคเลสเตอรอลเกิน  300  มิลลิกรัม ต่อวัน โดยปฏิบัติดังนี้
   
 
•
จำกัดไข่แดงไม่เกินสัปดาห์ละ 2 ฟอง  หลีกเลี่ยงเครื่องในสัตว์
 
•
เลือกรับประทานเนื้อสัตว์ไม่ติดหนังและมัน
 
•
เลือกรับประทานเต้าหู้แทนเนื้อสัตว์ในบางครั้ง
 
•
เลือกรับประทานอาหารประเภท  ต้ม  นึ่ง  ย่าง  อบ  ยำ แทนอาหารทอด หรือ  อาหารผัดที่ใช้น้ำมันมากๆ
 
•
เลือกดื่มนม หรือ ผลิตภัณฑ์จากนมพร่องมันเนย หรือนมขาดไขมันเท่านั้น
 
4.
รับประทานอาหาร ที่มีเส้นใยอาหารให้มากขึ้น เช่น ผัก  ผลไม้ต่างๆ ข้าวซ้อมมือ  และเมล็ดถั่วแห้ง  เป็นต้น  โดยอาหารที่มีเส้นใยสูง จะช่วยลดระดับโคเลสเตอรอล โดยจับกับน้ำดีที่มีโคเลสเตอรอลสูง ทำให้การดูดซึมลดลง
 
5.
หลีกเลี่ยงน้ำหวาน ขนมหวานทุกชนิด ที่มีน้ำตาลหรือแป้งมาก รับประทานข้าวก๋วยเตี๋ยว ขนมปังแต่พอสมควร เพราะจะสะสมเกิดเป็น ไขมันไตรกลีเซอไรด์ได้
 
6.
หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์  เนื่องจากกระตุ้นให้มีการสร้างไตรกลีเซอไรด์  มากขึ้น
 
7.
ควรหลีกเลี่ยงอาหารบางอย่าง ที่มีโคเลสเตอรอลต่ำ หรือไม่สูงมาก แต่มีปริมาณไขมันจำนวนมาก ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นโคเลสเตอรอล ในร่างกาย เช่น ถั่ว หนังเป็ด,ไก่ เนย เป็นต้น ซึ่งมีไขมันถึง 60-70%
 
8.
ไขมันจากปลาทะเล สามารถลดระดับไตรกลีเซอไรด์ ทำให้เกล็ดเลือดจับตัวน้อยลง และเส้นเลือดบีบตัวน้อยลง แต่มีผลต่อโคเลสเตอรอล และเอ็ชดีแอล โคเลสเตอรอลไม่ชัดเจน
 
9.
ควรลดน้ำหนักตัว  ถ้าอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวเกิน  โดยวัดจากดัชนีมวลกาย  ดังนี้

ดัชนีมวลกาย  =  น้ำหนัก (กิโลกรัม) /  ส่วนสูง 2 (เมตร)     

ค่าดัชนีมวลกาย ( กิโลกรัม / ตารางเมตร)

ผลลัพธ์

น้อยกว่า  20

ต่ำกว่าเกณฑ์ หรือ ผอม

20 – 24.9

น้ำหนักปกติ

25 – 29.5

น้ำหนักเกินหรืออ้วน

มากกว่า  30

โรคอ้วน


เรียบเรียงโดย นางตรีทิพย์ ปานเจริญ  งานการพยาบาลผู้ป่วยพิเศษ

 
       
    แหล่งข้อมูล : www.si.mahidol.ac.th  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
Cholesterol - Triglycerides and Healthy Heart
 
ภาวะไขมันในเลือดสูง
 
ไตรกลีเซอไรด์ ในเลือดสูง
 
คอเลสเตอรอลกับโรคหัวใจ
 
โคเลสเตอรอลในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.