หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
รักหัวใจ ใส่ใจโคเลสเตอรอล
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


ในปัจจุบันพบว่า การป่วยด้วยโรคเบาหวานเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญมาก ต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจจนมีบางคน กล่าวว่า การเป็นโรคเบาหวาน เป็นเสมือนหนึ่งว่า ได้มีโรคหลอดเลือดหัวใจด้วยแล้ว

ท่านอาจมีเพื่อน ญาติ คนรู้จักในสังคม ที่จากไปอย่างกะทันหัน เนื่องมาจากโรคหัวใจ หลายๆ คนจากไปในวัยที่ยังทำงาน ทำประโยชน์ ให้ครอบครัวและสังคม จากสถิติจากกระทรวงสาธารณสุข ล่าสุดระบุว่า สาเหตุการเสียชีวิตสูงสุด 3 อันดับแรก ในคนไทย คือ อุบัติเหตุ มะเร็ง และโรคหัวใจ เป็นเช่นนี้ต่อเนื่องมาหลายปี โรคหัวใจขาดเลือดจากหลอดเลือดหัวใจตีบและตัน เป็นโรคที่เคยพบน้อยในอดีต

กลับกลายเป็นโรคที่พบบ่อยมากในปัจจุบัน ทั้งๆ ที่พันธุกรรมในคนไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลง นั่นแสดงให้เห็นว่า สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่มีไขมันสูงเป้นปัจจัยสำคัญมากในการส่งเสริมมให้เกิดโรคนี้

หัวใจเป็นอวัยวะที่มีความมหัศจรรย์ เริ่มตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต นับว่าเป็นอวัยวะที่สำคัญ และแข็งแรงมาก หัวใจจะทำงานได้เป็นปกติต้องอาศัยการทำงานที่เป็นระบบของไฟฟ้าหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจ และลิ้นหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจก็เช่นเดียวกันกับกล้ามเนื้ออื่นๆ ที่ต้องการออกซิเจน และอาหารจากเลือดมาหล่อเลี้ยงเพื่อให้บีบตัวต่อไปได้ หลอดเลือดที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ประกอบด้วยหลอดเลือดแดง 2 เส้น เรียกว่า โคโรนารี่ด้านขวา 1 เส้น และด้านซ้าย 1 เส้น ซึ่งจะแตกแขนงออกเป็น 2 เส้นใหญ่ นอกจากนั้น แล้วแต่ละเส้น ยังส่งแขนงย่อยๆ ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจอีกด้วย ดังนั้นหากหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจเหล่านี้เกิดการตีบ หรืออุดตัน ก็จะนำไปสู่ โรคหัวใจขาดเลือด ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวได้ไม่ดี กล้ามเนื้อหัวใจตาย ภาวะหัวใจล้มเหลว หรือเสียชีวิตกะทันหัน

ปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจขาดเลือด

หลอดเลือดหัวใจก็เป้นอวัยวะหนึ่งที่เกิดการเสื่อมไปตามอายุอย่างไรก็ตาม นอกจากอายุแล้ว ยังมีปัจจัยอีกหลายปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดได้เร็วขึ้นและรุนแรงขึ้น ปัจจัยเหล่านี้เรียกว่า ปัจจัยเสี่ยง พบว่ายิ่งมีปัจจัยเสี่ยงหลายข้อ โอกาสเสี่ยงที่สำคัญต่อโรคหัวใจขาดเลือดจะยิ่งมากขึ้นหลายเท่า ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคหัวใจขาดเลือด ได้แก่

 
•
อายุ
 
•
เพศชาย ทั้งนี้เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนในเพศหญิง ช่วยป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด แต่เมื่อผู้หญิงหมดประจำเดือน ไม่ว่าโดยธรรมชาติ หรือไม่มีรังไข่ ก็ทำให้โอกาสเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือดสูงขึ้นใกล้เคียงกับเพศชาย
 
•
ประวัติในครอบครัวที่เป็นโรคนี้ รวมทั้งพันธุกรรม
 
•
การสูบบุหรี่
 
•
ความดันโลหิตสูง
 
•
เบาหวาน
 
•
ไขมันโคเลสเตอรอล ชนิดร้าย (แอล-ดี-แอล) ต่ำ
 
•
โรคอ้วน ซึ่งมักจะทำให้เกิดเบาหวาน ความดันโลหิตสูง รวมทั้งไขมันโคเลสเตอรอลชนิด ดี ต่ำ
 
•
ขาดการออกกำลังกาย

ไขมันโคเลสเตอรอลกับโรคหัวใจขาดเลือด ในร่างกายของคนเรา มีไขมันหลายชนิด ที่สำคัญ ได้แก่

 
•
ไขมันโคเลสเตอรอลเป็นไขมันที่มีประโยชน์เป็นส่วนประกอบของเซลล์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซลล์สมอง แต่หากมีไขมันโคเลสเตอรอลมากเกินไป ไขมันเหล่านี้จะไปสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย เช่น หลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดที่ไต ไม่เว้นแม้แต่อวัยวะเพศ เมื่อการตีบตันของหลอดเลือด ก็ทำให้อวัยวะนี้ขาดเลือดไปเลี้ยง เกิดอาการต่างๆ ตามมา เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจ รวมไปถึงการหย่อยสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย เรายังอาจแบ่งไขมันโคเลสเตอรอล ได้ย่อยๆ อีก ที่สำคัญ 2 ชนิด คือ
 
1. โคเลสเตอรอล ชนิดร้าย หรือ แอล-ดี-แอล (Low Density Lipoprotein Cholesterol, LDL-C) เป็นตัวที่มีบทบาทสำคัญในการสะสมในผนังของหลอดเลือดแดง ไขมันชนิดนี้ร่างการสร้างขึ้นเองส่วนหนึ่ง และมาจากอาหารที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไขมันจากสัตว์
 
2. โคเลสเตอรอล ชนิดดี หรือ เอช-ดี-แอล (High Density Lipoprotein Cholesterol, HDL-C) ไขมันชนิดนี้จะช่วยในการขนถ่ายโคเลสเตอรอลที่สะสมอยู่ออกมาทำลายจึงช่วยป้องกันโรคหัวใจหลอดเลือด ดังนั้นหากยิ่งสูงจะยิ่งเป็นผลดี ไขมันนี้ร่างกายสร้างขึ้นเอง และจะสูงขึ้นในผู้ที่ออกกำลังแบบแอโรบิค อย่างสม่ำเสมอ
 
•
ไขมันไตรกลีเซอไรด์ เป็นไขมันอีกชนิดหนึ่งที่มาจากอาหารร่วมกับร่างกายสร้างขึ้นที่ตับ ไตรกลีเซอไรด์เป็นแหล่งพลังงานสำคัญของร่างกาย โดยอาหารพวกแป้งและน้ำตาล รวมทั้งโปรตีนที่เหลือใช้ จะถูกเปลี่ยนเป็นไตรกลีเซอไรด์ และถูกเก็บสะสมไว้ที่ชั้นไขมัน เพื่อเป้นพลังงานสำรอง ไขมันชนิดนี้ปัจจุบันมีข้อมูลบ่งชี้ว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่อ้วน เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และมีระดับ เอช-ดี-แอล โคเลสเตอรอลต่ำ

ไขมันสูง สูงเท่าไร จึงเป็นอันตราย

เป็นคำถามที่ได้ยินเสมอว่า สูงขนาดไหน จึงเป็นอันตราย ต้องเข้าใจก่อนว่า ความจริงแล้วตัวไขมันในเลือดที่สูงนั้น ไม่ได้ทำให้เกิดอาการ อาการต่างๆ เป็นผลมาจากการตีบตันของหลอดเลือดแดง ซึ่งต้องอาศัยเวลาหลายปี การสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือดแดงนี้ เริ่มพบตั้งแต่ในวัยรุ่นแล้ว ผู้ที่เสียชีวิตกะทันหันก็ไม่ได้เกิดจากไขมันลอยไปอุดตันหลอดเลือด จากข้อมูลการศึกษาต่างๆ พบว่าระดับไขมัน โคเลสเตอรอลมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดแน่นอน และหากไขมันโคเลสเตอรอล (รวม) มากกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร อัตราเสี่ยงนี้จะเพิ่มขึ้นมาก จากข้อมูลต่างๆ จึงกำหนดค่าของไขมันในเลือดไว้ดังนี้

โคเลสเตอรอล (รวม) (Total Cholesterol)
ระดับที่เหมาะสม น้อยกว่า 200 มก.ต่อดล.
เริ่มสูง คือ 200-239 มก.ต่อดล.
สูงคือมากกว่า 240 มก.ต่อดล.
   

แอล-ดี-แอล โคเลสเตอรอล (LDL-Cholesterol)

ระดับที่เหมาะสม น้อยกว่า 130 มก.ต่อดล.
เริ่มสูง คือ 130-160 มก.ต่อดล.
สูง คือ มากกว่า 160 มก.ต่อดล.
สูงมาก คือ มากกว่า 190 มก.ต่อดล.
   

สำหรับ แอล-ดี-แอล โคเลสเตอรอล ในผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด หรือเป็นเบาหวาน ควรให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 มก.ต่อดล. จะช่วยลดปัญหาแทรกซ้อนทางหลอดเลือดลงได้

เอช-ดี-แอล โคเลสเตอรอล (HDL-Cholesterol)

ระดับที่เหมาะสม มากกว่า 40 มก.ต่อดล.
สูง (เป็นผลดี) มากกว่า 60 มก.ต่อดล.

ไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides)

ระดับเหมาะสม น้อยกว่า 150 มก.ต่อดล.

เราจะป้องกันโรคหัวใจขาดเลือดได้อย่างไร

โรคหัวใจขาดเลือดเกิดจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสื่อมตามอายุจึงไม่สามารถป้องกันโรคนี้ได้ 100% แต่จากการศึกษาต่างๆ ล้วนยืนยันว่า การลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ลง สามารถช่วยชะลอการดำเนินโรค และช่วยลดปัญหาแทรกซ้อนทางหลอดเลือดลงได้แน่นอน ตัวอย่างเช่น

 
•
เลิกบุหรี่ ภายในระยะเวลาไม่กี่ปี โอกาสเสี่ยงที่เคยมีจะลดลง จนใกล้เคียงผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ยังช่วยลดโอกาสเกิดมะเร็งปอด และถุงลมโป่งพองอีกด้วย
 
•
ตรวจเลือดเพื่อหาระดับไขมันในเลือดอย่างละเอียด หากพบว่าไขมันสูงมากกว่าคำที่แนะนำ ให้ควบคุมอาหารโดยการหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไขมันจากสัตว์ ร่วมกับการออกกำลังกาย หากไม่ได้ผลควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาการใช้ยา ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงหลายข้อ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาเร็วขึ้น จากการศึกษาพบว่า หากลดไขมันโคเลสเตอรอลลง 1% สามารถลดอัตราเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือดได้ 2% สำหรับผู้ที่มีโรคหัวใจขาดเลือดเกิดขึ้นแล้ว การลดไขมันโคเลสเตอรอลลงมาต่ำมากๆ เช่น แอล-ดี-แอล ต่ำกว่า 100 มก.ต่อดล. จะช่วยลดโอกาสเกิดหลอดเลือดหัวใจอุดตันซ้ำ รวมทั้งปัญหาแทรกซ้อนจากหลอดเลือดสมองตีบลงได้
 
•
หากมีความดันโลหิตสูง หรือเบาหวาน ท่านจำเป็นต้องควบคุมโรคให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีที่สุด
 
•
ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่อ้วนออกกำลังกายแบบแอโรบิค เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน อย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายนอกจากจะช่วยเผาผลาญไขมันและลดน้ำหนักแล้ว ยังทำให้ไขมัน เอช-ดี-แอล โคเลสเตอรอลสูงขึ้นด้วย ซึ่งเป็นผลดีต่อหัวใจ
 
•
ฝึกสมาธิ ทำจิตใจให้ผ่องใส ไม่เครียด

บทสรุป

ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโรคหัวใจขาดเลือดแพงมาก การป้องกันโรคเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากกว่าการรักษา โรคหัวใจขาดเลือดมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการ บางปัจจัยไม่สามาระเปลี่ยนแปลงได้ เช่น อายุ เพศ พันธุกรรม แต่หลายปัจจัยสามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง ไม่สูบบุหรี่ หันมาออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยชะลอ หรือลดปัญหาแทรกซ้อนจากโรคหัวใจลงได้ ดังนั้นหากท่าน รักหัวใจของท่าน หรือของคนข้างเคียง กรุณาใส่ใจโคเลสเตอรอลสักนิด ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้   

 
       
    แหล่งข้อมูล : www.heartandcholesterol.com  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
Cholesterol - Triglycerides and Healthy Heart
 
กรดไขมันในอาหารมีผลต่อระดับคอเลสเตอรอลในเลือด
 
ภาวะไขมันในเลือดสูง
 
คอเลสเตอรอลกับโรคหัวใจ
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.