หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
โรคมะเร็งกับผู้หญิง : มะเร็งปากมดลูก (1)
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 
ในบรรดาโรคมะเร็ง ที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงไทยเรานั้น ยอมรับกันว่า มะเร็งของปากมดลูกหรือคอมดลูก (Cervix uteri) พบได้บ่อยที่สุดเป็นอันดับต้นๆ สูสีคู่คี่กับมะเร็งของเต้านม แต่เมื่อดูสถิติของทางต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศ ที่เขามีระบบสาธารณสุขมูลฐานที่ดีแล้ว กลับพบโรคมะเร็งปากมดลูกที่น้อยกว่าเมืองไทยมาก ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?

ถ้าถามว่า โรคมะเร็งปากมดลูกเกิดจากอะไร คงไม่มีใครเป็นพหูสูตร พอที่จะให้คำตอบได้ 100% เพียงแต่มีหลักฐาน ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ บางประการชวนให้เชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับปากมดลูกนั้น น่าจะมาจากสารก่อมะเร็ง (Carcinogen) บางชนิด ที่ปากมดลูกต้องสัมผัสอยู่เสมอ สารก่อมะเร็งที่ยืนยันแล้วว่า เกี่ยวข้องกับมะเร็งปากมดลูก คือ เชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus)

การเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อปากมดลูกปกติ ไปเป็นโรคมะเร็งนั้น ใช้เวลาเป็นแรมปี (ประมาณ 3 - 5 ปี) ไม่ใช่แค่วันสองวัน ดังนั้น หากคุณผู้หญิงได้รับการตรวจภายในประจำปี ซึ่งคุณหมอจะตรวจหา มะเร็งปากมดลูกให้ทุกครั้งอยู่แล้ว รับรองได้ว่าต้องพบความผิดปกติ ก่อนที่ปากมดลูกจะเป็นมะเร็งแน่นอน ไม่มีคำว่าพลาด เมื่อพบแล้วการรักษาก็ไม่ยาก แถมหายขาดได้ เป็นการชิงจังหวะลงมือก่อน ไม่ยอมให้ถึงขั้นเป็นมะเร็ง คุณผู้หญิงก็จะปลอดโรคนี้ไปโดยปริยาย อีกอย่าง โชคดีที่ถึงปากมดลูก จะเป็นอวัยวะภายใน แต่โดยพฤตินัยแล้ว เขาเป็นเสมือนอวัยวะภายนอก ที่แพทย์สามารถตรวจได้ละเอียด โดยไม่ต้องอาศัยวิธีพิเศษใดๆ มาช่วยมากนัก ไม่เหมือนกับอวัยวะภายในอื่นๆ เช่น ตับ ไต ลำไส้ รังไข่ ที่อยู่ในช่องท้องมองก็ไม่เห็น เวลาตรวจร่างกายก็ได้แต่เคาะๆ คลำๆ อวัยวะภายในเหล่านั้น จึงยากแก่การตรวจหามะเร็งระยะเริ่มแรก พอป่วยกันมาทีก็มักจะเป็นมากแล้ว พลอยทำให้รักษายากไปด้วย ทั้งหมดที่กล่าวมาในย่อหน้านี้ คือเหตุผลที่อธิบายว่า ทำไมต่างประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงพบโรคมะเร็งปากมดลูกน้อยกว่าบ้านเรา ก็เพราะว่าคนของเขาเอาใจใส่ตัวเอง หมั่นมาตรวจร่างกาย ผู้หญิงขยันมาตรวจภายในประจำปี เมื่อปากมดลูกเป็นอะไร คุณหมอรีบรักษาให้ก่อนมะเร็งมากล้ำกราย เลยไม่ค่อยพบคนเป็นมะเร็งปากมดลูกสักเท่าไร เพราะฉะนั้น ขอชวนเชิญคุณผู้อ่านทุกท่าน แนะนำทั้งตัวเอง ญาติสนิทมิตรสหาย ให้มารับการตรวจร่างกาย (และตรวจภายในสำหรับคุณผู้หญิง) ประจำปีกัน จะได้ไม่พลาดโรคร้าย ที่อาจซ่อนอยู่ในตัว โดยไม่บอกกล่าวกัน

อาการที่ชักนำให้คุณผู้หญิง ยอมมาตรวจภายในมักได้แก่ มีเลือดออก ตกขาว หรือปวดในท้องน้อย นอกจากนั้น อาจคลำได้ก้อนเนื้อที่ท้องน้อย หรือมีกิจวัตรที่ผิดปกติไป เช่น การถ่ายอุจจาระลำบาก ปัสสาวะบ่อยขึ้นหรือกะปริดกะปรอย จากการที่ก้อนของปากมดลูกและตัวมดลูก โตไปกดทับอวัยวะเหล่านั้น เมื่อตรวจภายใน จะพบก้อนเนื้อยื่นออกมา หรือไม่ก็เป็นแผล ที่บริเวณปากมดลูกในระยะแรก ระยะต่อมาตัวก้อนมะเร็ง จะลุกลามมาที่ช่องคลอด หรือบริเวณเนื้อเยื่อด้านข้างของคอมดลูก บางครั้งลามไปกดเบียดท่อไต ที่ผ่านมาบริเวณข้างเคียง จนทำให้ปัสสาวะจากไต ไหลลงกระเพาะปัสสาวะลำบาก อาจเป็นผลกรวยไต หรือตัวไตขยายขนาด เนื่องจากมีการคั่งของปัสสาวะได้ หากเป็นระยะหลังๆ โรคมะเร็งนี้อาจลุกลาม หรือกระจายไปที่อวัยวะอื่นๆ ได้ เช่น กระเพาะปัสสาวะ, ลำไส้ใหญ่ส่วนล่าง, ปอด, กระดูก ฯลฯ

เมื่อคุณหมอตรวจพบ ความผิดปกติดังกล่าวที่ปากมดลูก ขั้นตอนมาตรฐานที่จำเป็น ต้องตรวจเพิ่มเติมก่อนให้การรักษา จะเป็นดังนี้

 
•
นำชิ้นเนื้อจากบริเวณปากมดลูกไปตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อยืนยันว่าเป็นมะเร็ง
 
•
ตรวจหาระยะที่แน่นอนของโรคมะเร็งที่เป็นอยู่ โดย
 
 
1.
การตรวจภายใน โดยสูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
 
2.
ถ่ายภาพ รังสี (เอกซเรย์) ปอด
 
3.
ถ่ายภาพรังสี (เอกซเรย์) หรืออัลตร้าซาวด์ ตรวจดูไตและท่อไต
 
4.
ตรวจดูความผิดปกติของกระเพาะปัสสาวะ และลำไส้ใหญ่ส่วนล่าง โดยศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
หลังจากให้การวินิจฉัย และทราบระยะของโรคที่แน่นอนแล้ว ต่อไปคุณหมอก็จะแนะนำ แผนการรักษาที่เหมาะสมแก่เจ้าตัวและญาติผู้ใกล้ชิด โดยมีหลักการรักษาคร่าวๆ ดังนี้
     
    หากเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 1 หมายถึง ตัวโรคมะเร็งยังอยู่กับที่ไม่ลุกลามไปที่ใด คุณหมอมักแนะนำวิธีการผ่าตัด นอกจากบางรายที่สุขภาพทั่วไป ไม่พร้อมสำหรับการผ่าตัดจริงๆ ในการผ่าตัดคง จำเป็นต้องตัดทั้งตัวมดลูกออกไป พร้อมกับปากและคอมดลูก ส่วนรังไข่อาจเก็บรักษาไว้ เพื่อผลิตฮอร์โมนเพศหญิงต่อไปได้ ทั้งนี้ขึ้นกับอายุ และพยาธิสภาพของโรค นอกจากนี้ อาจพิจารณาผ่าตัดเพิ่มเติม เช่น การเลาะต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน การตัดเนื้อเยื่อ บริเวณด้านข้างของคอมดลูก และการตัดช่องคลอด ส่วนที่ติดกับปากมดลูกออกไปเพิ่ม โดยจะพิจารณาเป็นรายๆ ไปตามลักษณะการลุกลามของโรค เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
     
    หากเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 2 เป็นต้นไป การรักษาหลักส่วนใหญ่ ได้แก่ การใช้รังสีรักษา (ร่วมกับเคมีบำบัดในบางกรณี) ซึ่งคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ จะแนะนำให้ทราบอย่างละเอียด มีอะไรติดใจสงสัยให้ซักถามได้เต็มที่เลย

ผลการรักษาโรคมะเร็งของปากมดลูก ขึ้นอยู่กับระยะของโรค ชนิดของโรคมะเร็ง สุขภาพทั่วไปของผู้ป่วย และความร่วมมือในการรักษาเป็นสำคัญ แม้ทางการแพทย์สมัยใหม่ เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า โรคมะเร็งเหล่านี้ มีโอกาสที่จะรักษาไม่หาย หรือมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีก แต่ด้วยแผนการรักษาที่ก้าวหน้าในปัจจุบัน โอกาสรักษาจนหายขาดมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะสำหรับคน ที่เพิ่งเริ่มเป็นระยะแรกๆ เช่น ระยะที่ 1 มีโอกาสหายขาดถึง 85 - 95% ระยะที่ 2 ก็ลดลงมาหน่อยเหลือ 60 - 70% เป็นต้น


คำแนะนำที่อยากให้ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ

 
1.
อย่าละเลย : ตรวจเช็คร่างกาย และตรวจภายในเป็นประจำทุกๆ ปี
 
2.
อย่ารีรอ : รีบไปตรวจหากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น
 
3.
อย่าลังเล : ตัดสินใจรักษาตามวิธีมาตรฐาน เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง

 

 

นายแพทย์ภานนท์ เกษมศานติ์
แผนกสูตินรีเวชกรรม

 
       
    แหล่งข้อมูล : วารสารโรงพยาบาลรามคำแหง ฉบับที่ 14 - www.ram-hosp.co.th/books  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
มะเร็ง หรือ เนื้อร้าย
 
ว่าด้วยเรื่อง ก้อนที่เต้านม
 
มะเร็งรังไข่
 
มะเร็งปากมดลูก
 
มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.