หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
โรคมะเร็งกับสตรี : มะเร็งปากมดลูก (2)
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 
ี่หลายคนอาจสงสัยว่าปากมดลูกที่ยังเป็นปกติ มีแต่เนื้อเยื่อสุขภาพดี แล้วอยู่ๆ ทำไมเนื้อดีๆ ถึงต้องกลายเป็นมะเร็งด้วย?

คำอธิบายเรื่องนี้ โดยอาศัยข้อมูลทางการแพทย์ เรื่องสารก่อมะเร็ง สามารถให้ความกระจ่างแก่พวกเรา ได้เพียงบางกรณีเท่านั้น ทั้งนี้เป็นเพราะ ปัจจุบันเพิ่งค้นพบสารก่อมะเร็งเพียงไม่กี่ชนิด เชื่อว่าทุกสถาบันวิจัย กำลังค้นคว้าอย่างขะมักเขม้น ไม่นานคงมีรายงานที่น่าเชื่อถือ มาขู่ให้เรากลัวโน่นระวังนี่อีกเป็นแน่ ส่วนสาเหตุที่มาจากเรื่องทางพันธุกรรม ก็เพียงช่วยอธิบายโรค ที่เกิดในคนไข้เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น มีคนอีกจำนวนมาก ที่อาจเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว ห้ามชะล่าใจเด็ดขาด

สารก่อมะเร็งปากมดลูกที่พิสูจน์แล้วว่า เป็นของจริงได้แก่ เชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) ติดต่อได้ทางการมีเพศสัมพันธ์ เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ตัวเชื้อจะเกาะอยู่ตาม เยื่อบุผิวของอวัยวะสืบพันธุ์ HPV บางชนิดอาจทำให้เกิด โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่แสดงอาการออกมาชัดเจน เช่น โรคหูดหงอนไก่ (Condyloma Acuminata) แต่ HPV ชนิดที่เกี่ยวข้องกับมะเร็ง มักหลบซ่อนตัว อาศัยอยู่อย่างเงียบๆ ตามเยื่อบุผิวที่ต่างๆ โดยเฉพาะที่ปากมดลูก บางครั้งอยู่เฉยๆ นานเป็นปีๆ แล้ววันดีคืนดี เชื้อไวรัสที่ดูเฉื่อยๆ นี่แหละ จะเริ่มแผลงฤทธิ์ออกลาย กระทำตัวเป็นเจ้านาย ออกคำสั่งให้ เซลล์เยื่อบุผิวที่อาศัยอยู่นั้น เปลี่ยนลักษณะหน้าตา ไปเป็นเซลล์ที่ผิดปกติ ไม่อยู่ในระเบียบวินัย ความผิดปกติที่เกิดขึ้น หากมีการขยายขนาดออกไป จนเต็มความหนาของชั้นเยื่อบุผิว และเริ่มกินทะลุลงไป ในเนื้อเยื่อส่วนลึกๆ เมื่อไร ก็ถือว่าเป็นมะเร็ง (Invasive Cancer) ทันที ส่วนพวกที่ความผิดปกติ ยังกินไม่ทะลุผ่านชั้นเยื่อบุผิว เราเรียกว่า ระยะก่อนเป็นมะเร็ง (Cervical Intraepithelial Neoplasia-Cin) หรือบางแห่งเรียกว่า มะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มแรก (Preinvasive Disease) แบ่งเป็น 3 ระยะตามระดับความหนาน้อย หนามากของความผิดปกตินั่นเอง

ระยะก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูก ใช้เวลานานอย่างน้อย 1-2 ปี กว่าจะกินทะลุลึกลงจนเป็นมะเร็ง ช่วงแรกๆ มักไม่มีอาการ (หลอกให้ตายใจ) ถ้าเราไหวตัวทัน รีบค้นหาด้วยการหมั่นตรวจภายใน ตรวจเช็คมะเร็งปากมดลูกประจำปี ก็คงไม่พลาดโอกาสงามๆ ที่จะตรวจพบและรักษาก่อน แต่ถ้าปล่อยปละละเลยตนเอง ผลัดวันประกันพรุ่งไม่ยอมไปตรวจซะที (แบบที่คุณบางคนกำลังรีรออยู่ !) โรคร้ายมันไม่คอยท่าเรานะ มารู้สึกกันอีกที ก็ตอนเลือดออกผิดปกติ หรือตกขาวมีกลิ่น กลายเป็นก้อนเนื้อมะเร็งไปซะแล้ว

ถึงบรรทัดนี้ ขอเวลาทำความเข้าใจ กันสักเล็กน้อย จริงๆ แล้ว การตรวจเช็คมะเร็งปากมดลูก ควรใช้คำที่ถูกต้องว่า การตรวจเซลล์วิทยา ของเยื่อบุผิวปากมดลูก จะดูดีกว่า เพราะที่เรียกกันว่า การตรวจมะเร็ง เป็นเพียงการตรวจแบบคัดกรอง กล่าวคือ แพทย์ใช้อุปกรณ์สะอาด ป้ายเอาเซลล์ที่อยู่บริเวณผิว ของปากมดลูกไปตรวจเท่านั้น ไม่ได้เอาชิ้นเนื้อเป็นชิ้นๆ ไปวิเคราะห์ วิธีตรวจแบบนี้ จึงยังไม่ใช่การวินิจฉัยโรค เป็นแต่บอกให้เราทราบอย่างคร่าวๆ ว่า พบสิ่งผิดปกติหรือไม่ การรายงานผลผิดปกติ ไม่ได้หมายความว่า เป็นมะเร็งปากมดลูกเสมอไป มีสาเหตุอีกหลายประการ นอกจากระยะก่อนเป็นมะเร็ง หรือก้อนเนื้อมะเร็ง ที่ทำให้ผลการตรวจมะเร็งปากมดลูกผิดปกติได้ เช่น การอักเสบเรื้อรัง, ปากมดลูกปกติของสตรีวัยทอง หรือหลังคลอดใหม่ๆ , เชื้อไวรัส HPV ฯลฯ

รู้จักกันซะอย่างนี้แล้ว เมื่อได้รับแจ้งว่าผลการตรวจ มะเร็งปากมดลูกผิดปกติ ก็อย่าเพิ่งสติแตก ตีตนไปก่อนไข้ล่ะ คุณอาจไม่ได้เป็นมะเร็งก็ได้ แต่ต้องรีบมารับการตรวจเพิ่มเติม ด้วยกล้องขยายที่เรียกว่า คอลโปสโคป (Colposcope) ซึ่งเป็นวิธีการตรวจที่ไม่ยุ่งยาก (และไม่เจ็บด้วย) กล้องขยายพิเศษนี้ ช่วยส่องขยายปากมดลูก ให้ใหญ่ขึ้นเป็นสิบๆ เท่า ทำให้นรีแพทย์ผู้ตรวจ มองเห็นพื้นผิวปากมดลูกอย่างชัดเจน ตำแหน่งใดที่มีลักษณะน่าสงสัยว่าผิดปกติ แพทย์จะนำชิ้นเนื้อบริเวณนั้น ส่งตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อให้ได้การวินิจฉัยโรคที่แน่นอน

เมื่อทราบแน่นอนว่า ความผิดปกติที่ปากมดลูกเกิดจากอะไรแล้ว เราคงปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้ แพทย์จะแนะนำการรักษา ที่เหมาะสมกับโรคแต่ละชนิด มีทางเลือกหลายทาง สำหรับ HPV และระยะก่อนเป็นมะเร็ง เช่น การจี้ด้วยความเย็น (Cryosurgery), การยิงทำลายด้วยแสงเลเซอร์ (Laser Vaporization), การใช้ลวดผ่านกระแสไฟฟ้า ฝานเอาชิ้นเนื้อที่ผิดปกติทิ้ง (Leep), การตัดคว้านปากและคอมดลูกออกเป็นรูปกรวย (Conization) เป็นต้น วิธีใดจะโดนใจตรงกับโรคที่สุด ขอให้เป็นหน้าที่ของนรีแพทย์ ผู้รักษากับตัวคุณผู้หญิงปรึกษากันเอง

 

 

นายแพทย์ภานนท์ เกษมศานติ์
แผนกสูตินรีเวชกรรม

 
       
    แหล่งข้อมูล : วารสารโรงพยาบาลรามคำแหง ฉบับที่ 15 - www.ram-hosp.co.th/books  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
มะเร็ง หรือ เนื้อร้าย
 
ว่าด้วยเรื่อง ก้อนที่เต้านม
 
มะเร็งรังไข่
 
มะเร็งปากมดลูก
 
มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.