หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
การตรวจหามะเร็งระยะเริ่มแรก
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


โรคมะเร็ง เป็นเหตุของการเสียชีวิต หนึ่งในสามอันดับแรก ของประชากรทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย เมื่อเอ่ยถึงโรคมะเร็ง คนส่วนใหญ่จะนึกถึงความตาย แต่ในความเป็นจริง ยังมีผู้ป่วยอีกจำนวนมาก ที่สามารถจะหายขาดจากโรคร้ายนี้ได้ โดยสิ่งที่สำคัญสิ่งหนึ่งก็คือ การตรวจพบ โรคนี้ในระยะแรก ซึ่งทำให้แพทย์มีโอกาสสูงขึ้น ที่จะรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้

แต่แพทย์ก็ไม่สามารถที่จะตรวจพบ มะเร็งทุกชนิดในระยะเริ่มแรกได้ทั้งหมด ในบทความนี้จะได้กล่าวถึง มะเร็งบางชนิด ที่สามารถตรวจพบได้ในระยะแรก ทั้งโดยตัวของผู้ป่วยเอง โดยแพทย์ หรือโดยการตรวจด้วยวิธีพิเศษอื่นๆ และสามารถทำให้อัตราการหายจากโรคสูงขึ้น

มะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยในผู้หญิง โดยจะพบมากในช่วงอายุ 40 ถึง 70ปี ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยง ต่อการเกิดมะเร็งชนิดนี้สูงขึ้น คือ ผู้ที่มีญาติ(พี่ น้อง มารดา) เป็นมะเร็งเต้านม, เคยเป็นมะเร็งทางมดลูก, รังไข่, หรือลำไส้ใหญ่, ผู้ที่มีความผิดปกติของยีนบางชนิด (BRCA1,BRCA2) และผู้ที่มีอายุสูงขึ้น จะมีอัตราเสี่ยงสูงขึ้น การตรวจพบมะเร็งเต้านม ในระยะแรก และยังไม่มีการแพร่กระจาย ทำให้โอกาสในการหายขาด จากโรคสูงมาก (80-90%) มะเร็งเต้านมเป็นโรคที่ีผู้หญิงทุกคน สามารถจะตรวจได้ด้วยตัวเอง การตรวจเต้านมด้วยตัวเอง อย่างน้อยเดือนละครั้ง, การตรวจร่างกายโดยแพทย์ปีละครั้ง และการตรวจเต้านมด้วยเครื่องเอกซเรย์ ที่เรียกว่า Mammography โดยผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ตรวจทุกปี และอายุมากกว่า 50 ปี ตรวจ 2 ปีต่อครั้ง และในกรณีที่แพทย์สงสัย หรือมีความผิดปกต ิอาจทำให้ตรวจบ่อยกว่านี้ได้ การตรวจด้วยวิธีดังกล่าวนี้ เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันว่า ทำให้อัตราการหายขาดจากโรคะเร็งนี้สูงขึ้น

มะเร็งปากมดลูก

เป็นมะเร็งที่พบในเพศหญิงอีกเช่นเคย และพบในอัตราที่สูง 90% ของมะเร็งที่ตรวจพบ ในระยะเริ่มต้น สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทั้งโดยวิธีฉายแสง (รังสีรักษา) หรือการผ่าตัด การตรวจที่ได้ผลเป็นที่แน่นอน และยอมรับไปทั่วโลก เป็นการตรวจที่สะดวก รวดเร็ว และค่าใช้จ่ายไม่แพง คือ การตรวจด้วยวิธี PAP SMEAR ซึ่งสูตินรีแพทย์จะเป็นผู้ตรวจ ไปพร้อมการตรวจภายใน โดยนำเซลล์จากปากมดลูกไปย้อมสีพิเศษ และดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ถ้ามีมะเร็งปากมดลูก จะพบเซลล์มะเร็ง ซึ่งบางครั้งสามารถวินิจฉัยได้ โดยที่ไม่เห็นเนื้องอกด้วยตาเปล่า สตรีทุกคนที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว หรือเคยมี (ไม่ว่าอายุเท่าไรก็ตาม) ควรจะต้องได้รับการตรวจทุกปีใน 3 ปีแรก ถ้าไม่มีอะไรผิดปกติ อาจจะห่างออกไปได้ เช่น ทุก 2-3 ปี สำหรับหญิงที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ถ้าอายุเกิน 20-25 ปี ควรจะได้รับการตรวจเช่นกัน

มะเร็งทางลำไส้ใหญ่

พบได้ทั้งในเพศชายและหญิง โดยพบในเพศชายได้สูงกว่าเล็กน้อย และพบบ่อยมากขึ้นเมื่ออายุเกิน 50 ปี (แต่ก็อาจจะพบในคนหนุ่มสาวได้) ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ อาจจะไม่มีอาการผิดปกติอะไร หรือมีโลหิตจาง (จากการเสียเลือดไปทางลำไส้ใหญ่) หรือมีอาการเปลี่ยนแปลง ในการถ่ายอุจจาระ เช่น ถ่ายเป็นมูกเลือด, ท้องผูก หรือท้องเสียผิดปกติ, อุจจาระก้อนเล็กลง เกินกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ มักจะมีโรคลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง แล้วทำให้โอกาส ที่จะรักษาให้หายขาดได้ลดลง ผู้ที่มีพี่, น้อง, บิดา, มารดา เป็นมะเร็งทางลำไส้ใหญ่ จะมีโอกาสเป็นมะเร็งทางลำไส้ใหญ่สูงขึ้น การตรวจทางทวารหนัก (Rectal Examination) และการตรวจหาเลือดในอุจจาระ (Stool Occult Blood) ทุกปีในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และการตรวจลำไส้ใหญ่ด้วย การส่องกล้อง (Colonoscope) หรือตรวจลำไส้ใหญ่ ด้วยรังสีเอกซเรย์และสวนแป้ง (Barium Enema) จะช่วยให้แพทย์สามารถตรวจพบ มะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแรกได้มากขึ้น ซึ่งหมายถึง โอกาสที่จะรักษาให้หายขาดมีมากขึ้น

มะเร็งของต่อมลูกหมาก

เป็นมะเร็งที่พบในเพศชายเท่านั้น และพบในคนสูงอายุ คือ มากกว่า 70 ปี ขึ้นไป ซึ่งมักจะมีโรคแทรกซ้อนอื่นเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากอายุมาก อาการของมะเร็งต่อมลูกหมาก จะคล้ายกับอาการของต่อมลูกหมากโต โดยอาจจะมีอาการ ปัสสาวะลำบาก ไม่คล่อง ไม่มีแรง หรือปัสสาวะไม่ออกเลย ถ้ามีการกระจายของมะเร็งไปยังกระดูก ก็อาจจะมีอาการปวดตามสะโพก หลัง หรือต้นขา หรือมาด้วยอาการของกระดูกหัก

การตรวจต่อมลูกหมากโดยนิ้วมือ โดยผ่านทางทวารหนัก (Digital Rectal Examination) ทุกปี ในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และการตรวจเลือด PSA (Prostatic Specific Antigen) จะช่วยในการวินิจฉัย โรคมะเร็งทางต่อมลูกหมากได้มากขึ้น

มะเร็งของตับ

มะเร็งของตับ เป็นมะเร็งที่พบได้ทั้ง 2 เพศ โดยพบในผู้ชายมากกว่า และพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับตับแข็ง (ทั้งจากการดื่มสุรา และจากสาเหตุอื่นๆ) การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซีเรื้อรัง, และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มาก

มะเร็งของตับ เป็นโรคที่รุนแรง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะเสียชีวิตภายใน 1 ปี ถ้าไม่ได้รับการรักษา ถ้าสามารถตรวจพบในระยะแรก และสามารถผ่าตัดออกได้หมด จะมีโอกาสรักษาหายขาดได้ แต่ส่วนใหญ่จะมาพบแพทย์ จะเป็นระยะ ที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด

การหลีกเลี่ยงแอกอฮอล์ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี ในคนที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน จะช่วยลดอัตราเสี่ยงลงได้ (ไวรัสตับอักเสบซียังไม่มีวัคซีนป้องกัน) สำหรับผู้ที่อัตราเสี่ยงอยู่แล้ว (มีตับแข็ง หรือมีโรคตับอักเสบบีหรือซี) ควรให้มีการตรวจร่างกาย และตรวจเลือดดูสาร AFP (Alfa Fetoprotein) ทุก 6 เดือน และตรวจตับด้วยอัลตราซาวน์ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เมื่อผลเลือดผิดปกติ หรือทุก 1-2 ปี จะช่วยให้พบโรคในระยะแรกได้

ในอนาคต คงจะมีวิธีการตรวจใหม่ๆ ที่จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในการตรวจหามะเร็งในระยะเริ่มแรก แต่ในระหว่างนี้ คงจะต้องระมัดระวังตัวเอง โดยการลดปัจจัยเสี่ยงลง

 

 

นายแพทย์สุธี ลีละเศรษฐกุล

 
       
    แหล่งข้อมูล : วารสารโรงพยาบาลรามคำแหง ฉบับที่ 12 - www.ram-hosp.co.th/books  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
มะเร็ง...ตัวร้าย
 
มะเร็ง หรือ เนื้อร้าย
 
การตรวจหามะเร็งในระยะเริ่มแรก
 
อาการของมะเร็งที่อวัยวะต่างๆ
 
บทบาทและประโยชน์ของสารบ่งชี้มะเร็ง (Tumor markers)
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.