ช่วงปีสองปีนี้ เป็นอีกช่วงหนึ่ง ที่มีการรณรงค์ให้เช็ค มะเร็งปากมดลูก และก็มีคนมาตรวจกันเป็นระยะๆ และก็เหมือนเคย คือ ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่ง ที่ยังไม่ทราบว่า การตรวจภายในทำกันยังไง ในสภาพการมาตรวจภายใน ที่รพ.ของรัฐ การไม่รู้ไม่เข้าใจ การตรวจภายใน นับเป็นสิ่งที่ ทำให้เกิดปัญหาได้อย่างหนึ่ง
ตรวจภายใน ตรวจไปทำไม
การตรวจภายใน แบ่งได้เป็นสามกลุ่ม ตามวัตถุประสงค์ในการตรวจ
1. ตรวจเช็คประจำปี
หรือที่จริง ควรจะเรียกว่า ตรวจเช็คมะเร็งปากมดลูก (Pervagina examination and Pap Smear) เป็นการตรวจ ที่มีการสนับสนุน ให้ทำการตรวจ เพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยในผู้หญิง ซึ่งคำแนะนำในการตรวจคัดกรอง อยู่ที่ประมาณทุก 1 ปี ซึ่งเนื่องจากว่า การศึกษาพบว่า ก่อนที่จะเกิดมะเร็ง จะเกิดการเปลี่ยนแปลง ที่ปากมดลูกก่อน เป็นเวลาประมาณ 3 - 5 ปี ก่อนจะมีการลุกลาม การที่ตรวจเป็นประจำ เมื่อพบความผิดปกติ ก็จะสามารถรักษาได้หายขาด
2. ตรวจเพื่อค้นหาโรค
ในผู้หญิงที่มีอาการผิดปกติ ทางอวัยวะสืบพันธุ์ เช่นมีเลือดออก ตกขาวผิดปกติ พบก้อน หรือเนื้อผิดปกติ นอกจากการตรวจตำแหน่งนั้นๆ แล้ว ยังต้องตรวจ ภายในในบริเวณอื่น เพื่อค้นหาความผิดปกติ ที่อาจจะเกิดในบริเวณอื่นข้างเคียงด้วย
3. ตรวจเพื่อวินิจฉัยแยกโรค
มีโรคหลายโรค ที่อาการที่ตรวจพบทั่วไป แยกได้ยากว่าเป็นโรคใด บางครั้ง การตรวจภายใน จะมีประโยชน์มาก ในการตัดสินใจ ในเลือกแนวทางการรักษาอย่างถูกต้อง
ตรวจภายในคืออะไร ทำอย่างไร
นี่ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง ที่พบว่ายังมีคนที่ไม่รู้อีกมาก หรือบางคนรู้แต่ไม่ครบ และบางที ก็ก่อให้เกิดความไม่เข้าใจได้
การตรวจแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน
1. ตรวจด้วยตา เริ่มจากเมื่อเปิดผ้าขึ้น ก็จะสังเกตดู อวัยวะเพศจากด้านนอก ใช้มือแหวกดูส่วนต่างๆ จากนั้น ก็จะเอาเครื่องมือสอดเข้าไป เพื่อดูในส่วนของปากมดลูก อาจจะมีการใส่เครื่องมือบางอย่าง เพื่อการตรวจในสิ่งที่สงสัย จากนั้น เมื่อดึงเครื่องมือออก ก็จะมีการมองดูช่องทางภายในอีกครั้งหนึ่ง ว่ามีอะไรผิดไปหรือไม่
2. ตรวจด้วยมือ จะมีการใช้นิ้วมือสอดเข้าไปภายใน และจะใช้อีกมือหนึ่ง เพื่อตรวจจากทางหน้าท้อง ตรงนี้ บางส่วนแพทย์จะตรวจเอง บางส่วน ก็จะมีการถามคนไข้ว่า รู้สึกอย่างไรในขณะทำการตรวจ (เจ็บ ปวดหรือไม่) ในแพทย์ที่เชี่ยวชาญ การตรวจด้วยมือ สามารถบอกโรค รูปร่าง และขนาด ได้ดีเท่ากับประดุจการใช้เครื่อง ultrasound
จากขั้นตอนดังกล่าว จึงกล่าวได้ว่า การตรวจภายใน คือ การตรวจผ่านช่องคลอด เพื่อให้ได้ข้อมูล เพื่อการตรวจวินิจฉัยโรคต่างๆ
ปัญหาที่พบได้
1. หมอบอกว่าสงสัยเป็นไส้ติ่ง แล้วมาตรวจภายในทำไม
หลายๆ ครั้ง เมื่อมีผู้หญิงที่ปวดท้องน้อย ทางด้านขวามาสองสามวัน และมีไข้มา เจาะเลือดและตรวจปัสสาวะแล้ว หมอก็ต้องมานั่งปวดหัว เพราะว่าการตรวจหน้าท้อง และผลทางห้องปฏิบัติการ ไม่ได้ให้คำตอบว่า คนไข้เป็นโรคอะไรกันแน่
โรคที่ต้องมานั่งแยกกันบ่อยๆได้แก่ ไส้ติ่งอักเสบ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ และปีกมดลูกอักเสบ ซึ่งในหลายๆ ราย จะมีอาการและผลตรวจเลือด, ปัสสาวะเหมือนกัน ในขณะที่การรักษาไปคนละขั้ว คือผ่ากับไม่ผ่า
การตรวจ ที่จะช่วยในการแยกโรคได้ตัวหนึ่ง ก็คือ การตรวจภายใน ซึ่งแพทย์จะเอานิ้วโยกปากมดลูก เพื่อดูว่าการอักเสบเป็นที่ใดกันแน่ ระหว่างปีกมดลูกอักเสบ (เจ็บเวลาโยก) หรือไส้ติ่ง (เจ็บน้อยหรือไม่เจ็บ เนื่องจากไม่ได้ยึดติดกับมดลูก)
2. ทำไมหมอตรวจไม่เหมือนกัน
เคยได้รับคำถามจากคนไข้ว่า ทำไมผมตรวจภายใน ไม่เหมือนแพทย์อีกคน ที่เคยตรวจไว้เมื่อครั้งก่อนหน้านี้ สอบถามไปก็ได้ความว่า ผมมีการตรวจทางหน้าท้องร่วมด้วย ซึ่งเธอไม่เข้าใจว่า ในเมื่อเรียกว่าตรวจภายใน ทำไมต้องเอามือไปกดหน้าท้อง
เรื่องของเรื่องก็คือ การตรวจภายใน ไม่ค่อยมีใครทำจนครบถ้วนกระบวนความ แต่มักเลือกทำ ในส่วนที่สงสัยเป็นหลัก และจะตรวจครบในกรณีที่มีเวลา
ถ้าคนไข้มาตรวจ เรื่องฝีที่อวัยวะเพศส่วนนอก ก็ไม่ค่อยมีใครอยากตรวจภายใน เข้าไปลึกๆ ให้คนไข้เจ็บตัว
ถ้ามาตรวจคัดกรอง มะเร็งปากมดลูกทุกปี ปีนี้มาตรวจอีก บางคนก็ตรวจป้ายแผ่นฟิล์มเท่านั้น
มาตรวจมะเร็งทุกปี ป้ายด้วยไม้แล้วเสร็จ ปีนี้แพทย์เห็นอะไรแปลกๆ ก็อาจจะเอาน้ำยามาป้าย แล้วส่องดู
3. กลัวเจอมะเร็ง เลยไม่อยากไปตรวจภายใน
สมัยก่อนจะเจอคน ที่เป็นจนลุกลามเป็นก้อนขนาดใหญ่ และตายโดยที่รักษาไม่ได้ ปัจจุบันนี้ พบน้อยลงมาก
บางคนบอกว่า จะเป็นก็ปล่อยให้เป็นไปเถอะ... ไม่อยากรู้ก่อน เหตุก็เนื่องมาจาก ความเชื่อผิดๆ ที่เกิดจากการเห็นคนเป็นมะเร็งปากมดลูก ระยะท้ายๆ ในสมัยก่อนมีการตรวจคัดกรอง
ความจริง มะเร็งปากมดลูก จะเริ่มมาจากความผิดปกติ ระดับผิวๆ จากนั้น จะใช้เวลาเป็นปีๆ กว่าจะลุกลามเป็นขั้นที่1 นับเป็นหนึ่งในมะเร็งไม่กี่ชนิด ที่รักษาให้หายขาดได้ โดยมีผลแทรกซ้อนน้อยมากๆ (ผ่าแล้วก็หาย) ต่างจากมะเร็งอื่นๆ ที่กว่าจะรู้ ก็มักจะกระจายแล้ว
การตรวจคัดกรองด้วยการป้ายสไลด์ เป็นประจำ จะช่วยให้รู้ตัวได้ล่วงหน้า ประมาณ3-5ปี ระหว่างนี้ จะมีเวลาที่จะตรวจ และทำการรักษาได้
ในรายที่ตรวจพบเร็ว การผ่าตัดเพียงอย่างเดียว ก็สามารถหายขาดได้ (ผ่าตัดในที่นี้ อาจจะเป็นเพียงการตัด เนื้อผ่านทางช่องคลอด แบบทำเสร็จ วันรุ่งขึ้นกลับบ้านได้เลย)
ในรายที่พบช้าไปนิด อาจจะต้องฉายรังสีเพิ่มอีกเล็กน้อย หรือเลือกผ่าตัดที่ใหญ่ขึ้น
แต่ในรายที่นิ่งนอนใจ รอจนกระทั่งมะเร็งมีอาการชัดเจน เช่น มีก้อนหรือเลือดออก ส่วนใหญ่มักจะไม่มีการรักษา ที่ทำให้หายขาดได้
4. เจ็บไหม
เวลาตรวจ ผมบอกคนไข้ไว้เสมอว่า "เจ็บแน่นอน" (อาจจะโดนพยาบาลค้อนว่าไปบอกทำไม)
ความเจ็บขึ้นอยู่กับหลายๆ อย่าง
อย่างแรก ก็คือ ฝีมือแพทย์ แต่โดยทั่วไป เวลาตรวจภายใน แพทย์มักเบามือที่สุดอยู่แล้ว ไม่มีใครอยากตรวจแบบคนไข้เจ็บ (เพราะตรวจยากขึ้นเยอะ) ตรงนี้เลือกไม่ได้
อย่างที่สอง การตรวจด้วยเครื่องมือ ยิ่งใหญ่ก็ยิ่งเจ็บ ซึ่งโดยปกติ จะเลือกขนาดที่เล็กที่สุด เท่าที่จะตรวจได้, ประเมินจากว่า ผ่านการมีเพศสัมพันธ์หรือยัง หรือคลอดลูกมากี่ครั้ง และจะพยายามตรวจครั้งเดียว โดยทั่วไป แพทย์จะไม่เปลี่ยนเอาอันใหม่มาใส่ หากไม่เกิดปัญหาในการตรวจ เช่น ช่องคลอดยาว ,หรือเลือดออกมาก จนมองอะไรไม่เห็น
อย่างที่สาม ความร่วมมือของคนไข้เอง ถ้าเกร็งมาก ก็เจ็บมาก และหากเปล่งเสียงร้องอีก ก็ยิ่งทำให้เกิดการหดรัดเกร็งมากขึ้น ยิ่งเจ็บขึ้นไปอีก
เท่าที่พบมา อย่างที่สามพบได้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะในรายที่ไม่เคยตรวจมาก่อน .... บางคนตอนแรก ที่ไม่ร่วมมือในการตรวจ เจ็บมากจนไม่ยอมให้ตรวจ แต่เมื่อให้ไปต่อคิวตรวจใหม่ สักรอบสองรอบ จนยอมร่วมมือในการตรวจอย่างดี กลับบอกว่าแทบไม่เจ็บเลยก็มี
สรุปว่าเจ็บแน่ๆ แต่ไม่เจ็บเท่าที่คิด
5. เตรียมตัวอย่างไร
|
|
ใส่กางเกงหรือกระโปรง ที่ถอดง่ายใส่ง่าย เวลามาตรวจโรค ที่คุณเองสงสัยว่าจะตรวจภายใน , ไม่ควรใส่ยีนส์มา .... (แต่อย่าลืมว่าบางครั้ง คุณเองก็คิดไม่ถึงว่า โรคที่เป็นจะต้องตรวจภายใน) |
|
|
ไม่ต้องไปทำอะไรก่อนมา, บางคนโกนขน บางคนเอาน้ำยา ล้างขัดช่องคลอด ซึ่งความจริงไม่มีความจำเป็น |
|
|
ไม่ต้องไปทำอะไร (กับแฟน) ก่อนมา , เพราะบางครั้ง ทำให้ตรวจยาก โดยเฉพาะการตรวจมะเร็งปากมดลูก ซึ่งต้องป้ายเนื้อเยื่อ ไปตรวจหาความผิดปกติ อาจทำให้การแปลผล ทำได้ยากขึ้น |
|
|
เตรียมใจ โดยเฉพาะคนที่รู้ตัวมาจากบ้าน ว่าต้องตรวจ... เคยมีคนที่มาตรวจ แล้วไม่ยอมให้ตรวจ พอเวลาผ่านไป10นาที โดยที่ไม่ยอมเปิดผ้า ผมก็ไล่ให้ไปคิวหลังสุด (>10คน) คาดว่า ในกรณีภาระงานมาก แพทย์หลายๆ คนก็ทำเช่นเดียวกัน |
|