หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
ดูแลเต้านมให้สุขภาพดีทุกวัย
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


อายุที่เพิ่มมากขึ้น เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้หญิงกังวล เรื่องรูปลักษณ์ภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของทรวงอก ที่ไม่มีใครอยากให้หย่อนยานกลายเป็น ถุงกาแฟ หรือเกิดความผิดปกติใดๆ แต่คุณรู้หรือไม่ว่า ปัจจัยที่ทำให้หน้าอกเปลี่ยนแปลง มีหลายสาเหตุมาก ตั้งแต่การขึ้น-ลงของน้ำหนัก ช่วงมีประจำเดือน การคลอดหรือให้นมบุตร และการก้าวสู่ช่วงวัยทอง เรียกได้ว่าหน้าอกสามารถปรับเปลี่ยนไปได้ทุกปี! ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้หน้าอกหย่อนคล้อย และเกิดอาการผิดปกติต่างๆ ลองมาฟังคำแนะนำ ที่รวบรวมมาให้คุณดูแลตามวัยกันค่ะ

หญิงวัยทำงาน 30

ผู้หญิงวัยนี้ ยังอยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์ สภาวะฮอร์โมนในร่างกาย ยังทำงานเป็นปกติ หน้าอกจึงยังไม่หย่อนคล้อย การเปลี่ยนแปลงของหน้าอกแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ฮอร์โมนเพศจะกระตุ้นให้หน้าอกใหญ่ขึ้น แต่หลังจากคลอดและให้นมบุตร หน้าอกจะเล็กลงประมาณครึ่ง-1 คัพ เนื่องจากต่อมน้ำนมในหน้าอกทำงาน และหดตัวลงตามธรรมชาติ ซึ่งจากการศึกษาของมหาวิทยาลัย เซาท์เทิร์น แคลิฟอร์เนียระบุว่า หญิงที่เลี้ยงดูให้นมบุตรหลังอายุ 25 ปี จะสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมได้ด้วย

ส่วนคนโสดมักมีปัญหาหน้าอกทั่วไป นั่นคือ เจ็บหรือคัดตึงหน้าอก การคลำเจอก้อนถุงน้ำ หรือซีสต์ ซึ่งอาจมีขนาดเล็กหรือใหญ่ขึ้น ก่อนหรือหลังการมีประจำเดือน ที่ไม่ส่งผลต่อร้ายสุขภาพ และไม่ใช่ก้อนมะเร็ง ถุงน้ำมีโอกาสยุบหายได้เอง ทั้งนี้จำเป็นต้องผ่าตัดหรือไม่ ควรให้แพทย์วินิจฉัย และติดตามว่าก้อนมีขนาดใหญ่มากหรือไม่

ทั้งนี้เพื่อความไม่ประมาท พลตรี นพ. สุรพงษ์ สุภาภรณ์ นายกสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย ให้คำแนะนำสาวๆ ตั้งแต่วัย 25 ปีขึ้นไป ว่าควรทำการตรวจเต้านมตนเองทุกๆ 1-2 เดือน แม้ว่าวัยนี้จะเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมต่ำ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะ ไม่มีโอกาสเป็น เพราะถ้าตรวจคัดกรองดี ก็จะรักษาได้ทันท่วงทีและมีโอกาสหายได้

สมาคมมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา (ASC) ยังแนะนำให้หญิงที่มีพ่อแม่ หรือพี่น้องซึ่งเคยมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งรังไข่ ตรวจแมมโมแกรมก่อนช่วงอายุเดียวกันของคนในครอบครัว ที่ตรวจพบมะเร็ง 10 ปี เช่น ถ้าแม่เป็นมะเร็งตอนอายุ 40 ปี คุณก็ควรได้รับการตรวจเมื่ออายุ 30 ปี อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจโดยการเอกซเรย์ หรือทำอัลตราซาวนด์ก็เพียงพอ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับประวัติการเกิดโรคในครอบครัว และความเหมาะสมของแต่ละคน

คำแนะนำทั่วไป :

 
•
หมั่นสำรวจและคลำเต้านมตนเองเป็นประจำทุกเดือน โดยเฉพาะหลังการมีประจำเดือน 7-10 วัน
 
•
นัดสูตินรีแพทย์ เพื่อตรวจอัลตราซาวนด์ความผิดปกติทุก 3 ปี
 
•
ตรวจแมมโมแกรมตามความจำเป็นของปัจจัยเสี่ยงการเป็นมะเร็งเต้านม

หญิงวัย 40

หน้าอกของหญิงวัยนี้จะมีความหย่อนคล้อยมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยทอง เนื่องจากต่อมไขมันในเต้านมจะขยายใหญ่ขึ้น ทำให้มวลน้ำหนักมากขึ้น และคล้อยตามแรงโน้มถ่วงโลก

ส่วนความผิดปกติของเต้านมของหญิงวัยนี้ คงไม่แตกต่างอะไรจากกลุ่มวัย 30 นั่นคือ อาจคลำเจอถุงน้ำ เนื้องอกธรรมดา ที่ไม่ใช่มะเร็งเต้านม แต่เนื่องจากอายุที่เพิ่มขึ้น ความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมก็มากขึ้นตาม

จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ประเทศไทย พบว่า หญิงอายุ 40-49 ปี เป็นมะเร็งเต้านมประมาณ 34.3%          ทำให้การตรวจคัดกรองในช่วงอายุนี้ ต้องละเอียดและเป็นสิ่งที่ต้องทำทุกปี โดยเฉพาะหญิงวัยทอง ที่อาจได้รับคำแนะนำให้รับประทานฮอร์โมนทดแทน

แม้ว่าจะมีงานวิจัยอ้างว่า การรับประทานฮอร์โมนทดแทนติดต่อกันหลายปี จะเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม แต่แพทย์จำนวนไม่น้อย ลงความเห็นให้รับประทานต่อไป เพราะมันสามารถบรรเทาอาการร้อนวูบวาบ และลดความเสี่ยงภาวะกระดูกพรุนได้ ซึ่งมีผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันมากกว่า ทั้งนี้ปริมาณและระยะเวลา ของการรับประทานฮอร์โมนทดแทน ของแต่ละคนก็แตกต่างกัน สูตินรีแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยและแนะนำคุณ ซึ่งแพทย์ก็มักจะแนะนำ ให้คุณหมั่นตรวจเช็คสุขภาพเต้านมเองทุกเดือน และทำแมมโมแกรมเป็นประจำทุกปี

คำแนะนำทั่วไป :

 
•
หมั่นสำรวจและคลำเต้านมตนเองเป็นประจำทุกเดือน ซึ่งพบว่าผู้หญิงประมาณ 80-90%จะตรวจพบความผิดปกติได้เอง
 
•
นัดสูตินรีแพทย์ เพื่อตรวจเช็คหาความผิดปกติ และตรวจแมมโมแกรมเป็นประจำทุกปี
 
•
เพื่อปรับบุคลิกภาพให้ดี และหน้าอกไม่หย่อนคล้อย พยายามนั่งตัวตรง แอ่นหน้าอก และเน้นบริหารหน้าอกอย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าเต้านมจะประกอบด้วยไขมันมากกว่ากล้ามเนื้อ ทำให้กลับไปเต่งตึงหรือกระชับดังเดิมได้ยาก แต่ถ้ากล้ามเนื้อรอบๆ แข็งแรงก็ยังช่วยให้ดูกระชับมากขึ้นได้

หญิงวัย 50 ขึ้นไป

การเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมน มีผลทำให้ต่อมไขมันและเนื้อเยื่อเต้านมไม่ตึงตัว หน้าอกของหญิงวัยนี้ จึงมีสภาวะหย่อนคล้อย และผิวหนังไม่เต่งตึงเหมือนเดิม

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ประเทศไทย ระบุว่า สถิติการเป็นมะเร็งเต้านมของหญิงกลุ่มนี้ มีจำนวนน้อยกว่ากลุ่มอายุ 40-49 ปี นั่นคือ ประมาณ 27% แต่การทำแมมโมแกรมของหญิงวัยนี้ น่าจะทำได้สะดวกกว่าหญิงอายุน้อย เพราะสภาพเต้านมมีความยืดหยุ่นจากไขมันมากขึ้น อำนวยให้เครื่องสามารถตรวจสอบ หาความผิดปกติได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หญิงวัยนี้พึงทำควบคู่กับการดูแลทรวงอกให้มีสุขภาพดี คือ การควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์ที่กำหนด เพราะหลังวัยทอง ร่างกายจะเผาผลาญพลังงานได้ไม่ดีเท่าเดิม กล้ามเนื้อไม่เต่งตึง และทำให้ไขมันสะสมตามเอว หน้าท้อง สะโพกและต้นขาได้ง่าย

จากการวิจัยของสาธารณสุขการแพทย์ มหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด พบว่า ผู้หญิงที่เลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม ต่ำกว่าคนที่รับประทานตามใจปาก ทั้งนี้ การรับประทานอาหารที่มีไขมันดีอย่างโอเมก้า-3 มีใยอาหาร และหมั่นออกกำลังกายควบคู่กัน สามารถป้องกันความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน

คำแนะนำทั่วไป :

 
•
หมั่นสำรวจและคลำเต้านมตนเองเป็นประจำทุกเดือน
 
•
นัดสูตินรีแพทย์ เพื่อตรวจเช็คหาความผิดปกติ และตรวจแมมโมแกรมเป็นประจำทุกปี
 
•
เพื่อป้องกันไม่ให้หน้าอกหย่อนคล้อย บริหารหน้าอกด้วยการยกดัมเบลล์ เริ่มจากการนอนหงาย งอเข่าทั้งสองข้างขึ้น แขนทั้งสองยกดัมเบลล์ขึ้นชูเหนือระดับหน้าอก หายใจออก และลดระดับแขนจนข้อศอกตั้งฉากกับหัวไหล่ นับ 1 ครั้ง ทำติดต่อกัน 8-12 ครั้ง 3 เซต

Tips การดูแลหน้าอกหลังผ่าตัด

สำหรับหญิงที่ได้รับการผ่าตัดหน้าอก เช่น เจาะถุงน้ำ ผ่าตัดเนื้องอก ผ่าต่อมน้ำเหลือง ผ่าตัดก้อนมะเร็งบางส่วนออก ฯลฯ แพทย์จะแนะนำให้ออกกำลังกายบริหารหน้าอก เพื่อลดอาการบวม หรือเพิ่มระบบไหลเวียนโลหิต ด้วยการบีบและคลายลูกบอลยาง ขนาดเท่าลูกเบสบอลทุกวัน วันละ 2-3 นาที ทั้งแขนซ้ายและขวา และเมื่อแผลหายดี ให้พยายามหลีกเลี่ยง

 
•
การสะพายกระเป๋าหนักข้างเดียวกับหน้าอกที่ได้รับการผ่าตัด
 
•
การเจาะเลือด หรือวัดความดันข้างเดียวกับหน้าอกที่ได้รับการผ่าตัด
 
•
การสวมเสื้อที่มีแขนรัด หรือสวมกำไลข้อมือ นาฬิกาหรือแหวน ที่รัดนิ้วหรือแขนข้างเดียวกับหน้าอกที่ได้รับการผ่าตัด

 

 
       
    แหล่งข้อมูล : นิตยสาร - HealthToday  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
ปรับชีวิตให้สมดุลทุก 10 ปี
 
แก้อาการวูบวาบในวัยทองด้วยถั่วเหลือง
 
หาหมอสูติที่ถูกใจ...ได้อย่างไร
 
ตรวจภายในไม่น่ากลัวอย่างที่คิด
 
ตรวจก่อน รู้ก่อน ปลอดภัยกว่า
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.