หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
รู้จักพาร์กินสัน โรคสั่นของคนสูงวัย
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


อาการผิดปกติที่เกิดขึ้น บ่งบอกให้เขารู้ว่า ต้องมีอะไรชอบมาพากลแน่นอน สมศักดิ์รีบให้ลูกชายพาไปโรงพยาบาลในทันที ผลการวินิจฉัยของหมอบอกว่า สมศักดิ์เป็น โรคพาร์กินสัน ...

โรคที่ชื่อฟังดูประหลาดนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร และทำไมถึงเจาะจงเป็นเฉพาะคนสูงอายุ วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกันครับ

รู้เรื่องพาร์กินสัน

โรคพารกินสัน เป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมของเซลล์ประสาท บริเวณก้านสมอง ส่งผลให้สารเคมีชนิดชื่อว่า โดปามีน ( Dopamine) ซึ่งมีความสำคัญต่อการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย มีปริมาณลดลง ทำให้การทำงานของระบบการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายผิดปกติ โดยมากพบในผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปทั้งชายและหญิง

ศ.นพ. นิพนธ์ พวงวรินทร์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ได้กล่าวถึง สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคพาร์กินสัน ดังต่อไปนี้คือ

 
•
ความชราภาพของสมอง เมื่อถึงวัยชรา บางคนเซลล์สมองที่สร้างสารโดปามีน จะมีจำนวนลดลง ซึ่งทำให้ความจดจำ ตลอดจนการสั่งการของสมองผิดปกติไปด้วย
 
•
การกินยากล่อมประสาท หรือยานอนหลับที่ออกฤทธิ์กด หรือต้านการสร้างสารโดปามีน โดยมากผู้ป่วยทางจิตเวชที่ได้รับยากล่อมประสาท ติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็จะมีโอกาสเป็นโรคพาร์กินสันได้เช่นกัน
นอกจากนั้น อาจมาจากสาเหตุอื่นๆ อาทิ สารพิษบางชนิด เช่น สารแมงกานีสในโรงงานถ่านไฟฉาย พิษจากสารคาร์บอนมอนนิดไซด์ ที่เข้าสู่ร่างกาย หรือในบางกรณีที่สมองขาดออกซิเจนในเวลานาน เช่น จมน้ำ ถูกบีบคอ หรือเกิดการอุดตันในทางเดินหายใจ จากเสมหะหรืออาหาร เป็นต้น

อาการของพาร์กินสัน

อาการของโรคพาร์กินสันที่แสดงออกชัดเจน และมักพบในผู้ป่วยทั่วไปมีดังนี้ คือ

 
•
อาการสั่น มักพบได้บ่อยที่มือและเท้า แต่บางครั้งผู้ป่วยบางคนก็เป็นที่คางหรือลิ้น ประมาณร้อยละ 60-70 ของผู้ป่วย จะมีอาการสั่นโดยเฉพาะเวลาอยู่นิ่งๆ จะสั่นมาก (ประมาณ 4-8 ครั้ง/วินาที) แต่ถ้ามีการเคลื่อนไหว หรือทำกิจกรรมโดยไม่อยู่นิ่ง อาการสั่นก็จะลดลงหรือหายไป
 
•
อาการเกร็ง ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะที่บริเวณโคนแขน โคนขาและลำตัว แม้ว่าจะไม่ได้เคลื่อนไหวหรือทำงานหนักก็ตาม ผู้ป่วยบางรายต้องกินยาแก้ปวด หรือต้องนวดอยู่เป็นประจำ
 
•
มีการเคลื่อนไหวช้ากว่าปกติ ระยะแรกผู้ป่วยอาจรู้สึกทำกิจกรรมต่างๆ ที่เคยทำตามปกติช้าลง และเคลื่อนไหวไม่กระฉับกระเฉงว่องไวเหมือนก่อน โดยเฉพาะระยะเริ่มต้นของการเคลื่อนไหว ถ้าเป็นมากขึ้น อาจเดินเองไม่ได้ ต้องใช้ไม้เท้าหรือใช้คนพยุง
 
•
การทรงตัวลำบาก จนทำให้ท่าเดินผิดปกติไปจากเดิม นอกจากนั้น ผู้ป่วยบางคนยังเดินหลังค่อม ตัวงอ มือชิดแนบลำตัว หรือเดินแข็งทื่อเป็นหุ่นยนต์ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหกล้มได้บ่อยๆ จนในบางราย โดยเฉพาะผู้สูงอาอายุ ทำให้กระดูกต้นขาหัก สะโพกหัก ศีรษะแตก เป็นต้น

นอกจากอาการข้างต้นแล้ว ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันบางราย ยังมีอาการแทรกซ้อนอื่นอีก เช่น สีหน้าเฉยเมย ไม่ค่อยยิ้มเวลาหัวเราะ ดูเหมือนไม่มีอารมณ์ และความรู้สึกใดๆ เสียงพูดมักจะเบา มีจังหวะเดียวไม่มีเสียงสูงต่ำ หากพูดไปนานๆ เสียงจะหายไปในลำคอ การเขียน ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันจะเขียนหนังสือลำบาก ตัวหนังสือจะค่อยๆ เล็กลงจนอ่านไม่ออกในที่สุด มีปัญหาด้านสายตา ผู้ป่วยจะไม่สามารถกลอกตาไปมา ได้คล่องแคล่วอย่างคนปกติ เพราะลูกตาจะเคลื่อนไหวแบบกระตุก
นอกจากนั้น ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการท้อแท้ สิ้นหวัง ซึมเศร้า ซึ่งบางครั้งอาจเป็นมากถึงขั้นทำร้ายตัวเอง บางรายอาจมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ร่วมด้วย เช่นท้องผูกเป็นประจำ อ่อนเพลีย เป็นต้น

แนวทางการรักษา

เนื่องจากโรคพาร์กินสันเป็นโรคเรื้อรัง ชนิดที่รักษาไม่หายขาด ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับยา และรักษาไปตามอาการตลอดชีวิต ภายใต้การดูแลของแพทย์ โดยแพทย์ได้แบ่งแนวทางในการรักษาไว้ดังนี้คือ

 
•
รักษาโดยการใช้ยา ซึ่งแม้ว่ายาจะไม่สามารถทำให้เซลล์สมองที่ตายไปแล้ว ฟื้นตัวหรือกลับมางอกทดแทนเซลล์เดิมได้ แต่การรักษาโดยการใช้ยา จะทำให้สารเคมีโดมีนในสมองมีปริมาณเพียงพอ กับความต้องการของร่างกาย โดยยาที่ใช้ในปัจจุบันมี 2 กลุ่มคือ ยากลุ่ม LEVODOPA ซึ่งเมื่อยาชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายแล้ว จะถูกแปลงเป็นสารโดปามีน เพื่อเสริมเซลล์สมองที่ไม่สามารถผลิตสารดังกล่าวได้มากพอ และยากลุ่ม DOPAMINE AGONIST ซึ่งออกฤทธิ์โดยเลียนแบบผลของโดปามีน ในการนำส่งสัญญาณจากเซลล์ประสาทหนึ่ง ไปยังเซลล์ประสาทหนึ่ง ซึ่งในการใช้ยาแต่ละชนิด ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยจากแพทย์ ตามความเหมาะสมของผู้ป่วยเป็นหลัก
 
•
การทำกายภาพบำบัด จุดมุ่งหมายของการรักษา คือ เพื่อให้ผู้ป่วยกลับคืนสู่สภาพชีวิต ที่ใกล้เคียงคนปกติมากที่สุด ซึ่งมีหลักวิธีปฏิบัติง่ายๆ คือ การพยามทำกายภาพบำบัดด้วยการฝึกเดิน การฝึกพูด ทั้งนี้ ผู้ป่วยต้องได้รับการเอาใจใส่จากคนรอบข้าง ในการพัฒนาฟื้นฟูด้านร่างกาย และจิตใจอย่างเต็มที่
 
•
การผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดโดยมากจะได้ผลดี ในผู้ป่วยที่มีอายุน้อย และมีอาการผิดปกติไม่มากนัก หรือในผู้ที่อาการแทรกซ้อนจากยา ที่ใช้มาเป็นระยะเวลานานๆ เช่น อาการสั่นรุนแรง หรือมีการเคลื่อนไหวแขน ขามากผิดปกติ เป็นต้น

นอกจากนั้น การออกกำลังกายมีความสำคัญเป็นอย่างมาก สำหรับผู้ที่เป็นโรคพาร์กินสัน เพราะสามารถจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย และเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น ซึ่งอาจทำได้หลายวิธี เช่น การวิ่งเหยาะๆ การเดินเร็วๆ ขี้จักรยาน หรือว่ายน้ำ เป็นต้น
แม้ว่าโรคพาร์กินสันมักจะเกิดขึ้นได้กับคนสูงวัย แต่อย่าลืมว่า การเตรียมพร้อมรับมือกับสารพัดโรคอยู่เสมอ โดยการดูแลสุขภาพของตัวเอง ทั้งการออกกำลังกาย กินอาหารที่ถูกต้อง ทำจิตใจให้ผ่องใสไม่เครียดกับชีวิต ย่อมดีกว่าการที่จะปล่อยเวลาให้ผ่านไป โดยไม่ทำอะไรเลยนะครับ

เพราะโรคบางโรค เมื่อรอให้ถึงตอนแก่แล้วค่อยมาหาทางรักษา บางครั้งมันก็สายไปเสียแล้ว

 

 

นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 122

 
       
    แหล่งข้อมูล : www.cheewajit.com  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
โรคที่พบในผู้สูงอายุ
 
การเปลี่ยนแปลงของระบบประสาท
 
อัมพฤกษ์อัมพาต ในผู้สูงอายุ
 
อัมพาตในผู้สูงอายุ
 
อัมพฤกษ์อัมพาต โรคร้ายที่มีแต่ความสูญเสีย
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.