หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
ตะคริว
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


ตะคริว คือ การที่มีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ อย่างรุนแรงเป็นเวลานาน โดยทั่วไป ตะคริวมักเกิดไม่เกินสองนาที แต่อาจมีบางรายเกิดนานได้ถึงห้านาท ีหรือนานกว่านั้น ในบางรายอาจเกิดบ่อย จนทำให้เกิดความทุกข์ทรมานได้ โดยทั่วไปตะคริว มักเกิดในผู้สูงอาย ุและเกิดในตอนกลางคืน    แต่ก็อาจเกิดในคนอายุน้อย และเกิดได้ทุกเวลา อาการนี้ถึงแม้จะไม่ส่งผลเสียถึงแก่ชีวิต แต่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ถ้าเกิดระหว่างว่ายน้ำ หรือขับรถ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

สาเหตุของการเกิดตะคริว

สาเหตุการเกิดยังไม่ทราบแน่ชัด มีหลายทฤษฎี อาจเกิดจากการที่เอ็นและกล้ามเนื้อไม่ได้มีการยืดตัวบ่อยๆ ทำให้มีการหดรั้ง เกร็งได้ง่าย เมื่อมีการใช้กล้ามเนื้อนั้นมากเกินไป นอกจากนั้น ยังอาจเกิดจากเซลล์ประสาทและเส้นประสาท ที่ควบคุมการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อ ทำงานผิดปกติไป และประการสุดท้าย อาจเกิดจากการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่ดีพอ ซึ่งมักพบในคนที่มีโรคที่ทำให้หลอดเลือดตีบ เช่น โรคเบาหวาน เป็นต้น

ตัวกระตุ้นการเกิดตะคริว

ส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยมีสาเหตุ แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจเกิดจากยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาลดไขมันในเลือด ยาลดความดันโลหิตบางชนิด เป็นต้น นอกจากนั้นโรคทางกายบางอย่าง เช่น โรคไตวาย โรคเบาหวาน โรคของต่อมธัยรอยด์ ซีด น้ำตาลในเลือดต่ำ โรคพาร์กินสัน ร่างกายขาดสารน้ำ และความผิดปกติของเกลือแร่ในร่างกาย ได้แก่ แมกนีเซียม แคลเซียม โปแตสเซียม ยังทำให้เกิดตะคริวขึ้นได้ง่าย

การทำงานมากๆ จนเมื่อยล้า หรือนั่งขดแขนขาอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ ก็อาจทำให้เกิดตะคริวขึ้นได้เช่นกัน เพราะเลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงแขนขาได้สะดวก

การรักษาอาการตะคริว

ถ้าเป็นบ่อยมากควรหาสาเหตุ ตรวจเช็คว่ายาที่รับประทานอยู่ เป็นสาเหตุของตะคริวได้หรือไม่ อาจต้องตรวจหาโรคทางกายดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปมักไม่ค่อยพบสาเหตุ

การรักษาที่ดีอย่างหนึ่งคือ การยืดกล้ามเนื้อที่เกิดตะคริว นั้นให้คลายออกอย่างช้าๆ ตัวอย่างเช่น ถ้าเกิดตะคริวที่น่อง จะทำให้เกิดเกร็งปลายเท้าจิกชี้ลงพื้นดิน ก็ให้ทำการดันปลายเท้าให้กระดกขึ้นช้าๆ แต่ห้ามทำการกระตุก กระชากรุนแรงอย่างรวดเร็ว เพราะจะเจ็บปวดจนกล้ามเนื้อฉีกขาดได้ ในรายที่เป็นบ่อยๆ มีการใช้ยาบางอย่าง เช่น ควินีนและยาคลายกล้ามเนื้อบางชนิด ซึ่งอาจใช้ในระยะสั้นๆ เช่น 4-6 สัปดาห์และดูการตอบสนอง แต่ผลการศึกษาถึงประโยชน์ยังไม่ชัดเจนนัก และอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ในบางราย เช่น เกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวต่ำ ตับอักเสบ หูอื้อ เสียงดังในหู เวียนศีรษะได้ เป็นต้น ดังนั้นโดยทั่วไป มักไม่ค่อยได้ใช้กันทั่วไป

การป้องกัน

 
1.
การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะตะคริวมักเกิดในผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ หรือคนที่ขาดการออกกำลังกายที่ดีพอ
 
2.
การฝึกการยืดกล้ามเนื้อบ่อยๆ อาจลดโอกาสการเกิดตะคริวได้ เช่น ที่น่องอาจทำได้โดยการกระดกเท้าขึ้นลง หรือเอามือแตะปลายเท้าขณะเหยียดเข่า ปั่นจักรยานอยู่กับที่ หรือยืนบนส้นเท้าห่างผนัง 1 ฟุต แล้วเอามือทาบผนังและค่อยๆ เหยียดแขนออก เพื่อยืดกล้ามเนื้อประมาณ 30 วินาทีแล้วทำใหม่ เป็นต้น
   
 
3.
ถ้าออกกำลังกายหนักควรดื่มน้ำ และเกลือแร่ทดแทนให้เพียงพอ
 
4.
ควรพักผ่อนให้เพียงพอ
 
5.
รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
 
6.
ผู้สูงอายุควรค่อยๆ ขยับแขนขาช้าๆ และหลีกเลี่ยงอากาศเย็นมากๆ
 
7.
สวมรองเท้าที่พอเหมาะ และอาจใส่ถุงเท้าตอนนอน เพื่อป้องกันการเกร็งของเท้า
 
8.
ในรายที่เป็นบ่อยๆ ควรไปพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและแก้ไข


นพ. วีรศักดิ์ เมืองไพศาล

 
       
    แหล่งข้อมูล : www.si.mahidol.ac.th - คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
โรคที่พบในผู้สูงอายุ
 
โลหิตจาง
 
อาการปวดเมื่อยในผู้สูงอายุ
 
เวียนศีรษะ
 
การออกกำลังกายในผู้สูงอายุ
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.