Junk Food หรือ อาหารขยะ |
---|
วิถีชีวิตและพฤติกรรม ที่เปลี่ยนไปของคนเมือง ทำให้ต้องฝากปากท้อง กับอาหารสำเร็จรูป และอาหารจานด่วน ซึ่งส่วนมาก จะมาในรูปอาหารตะวันตก ประเภทสะดวก เร็ว อิ่ม (แต่แพง) เพราะซื้อหาได้ทั่วไป ถูกปากคนรุ่นใหม่ ใส่บรรจุภัณฑ์เก๋ไก๋ พกพาไปได้ทั่ว รับประทานได้ทุกที่ คำว่า Junk Food เป็นศัพท์แสลงของ อาหารที่มีสารอาหารจำกัด หรือที่เรียกกันว่า อาหารขยะ อาหารไร้ประโยชน์ อาหารที่นักโภชนาการ ไม่เคยแนะนำ อะไรทำนองนี้ แต่ขึ้นชื่อว่า Junk Food จะต้องประกอบด้วยสารอาหาร ที่ให้พลังงานเป็นส่วนใหญ่ เช่น น้ำตาล ไขมัน แป้ง และมีส่วนประกอบโปรตีน วิตามิน เกลือแร่ น้อยมาก ตัวอย่างเช่น ขนมขบเคี้ยวรสเค็ม รสหวาน ลูกอม หมากฝรั่ง ขนมหวานทุกชนิด อาหารทอด อาหารจานด่วนบางชนิด และน้ำอัดลม หรือมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Empty Calorie มีความหมายว่า ไม่มีอะไรที่เป็นประโยชน์เลย เทียบกับอาหารไทย โดยพื้นฐานแล้ว ในหนึ่งจานให้คุณค่าหลากหลาย ไขมันต่ำกว่า อุดมด้วยสมุนไพร ที่เป็นคุณต่อสุขภาพ แต่ด้วยความเร่งรัดของวิถีชีวิต ทำให้คนไม่มีเวลาเลือกหา และไม่ยอมเสียเวลา ปรุงอาหารรับประทานเอง อย่างน้อยหนึ่งมื้อ ในหนึ่งวันของใครหลายคน จึงเลือก Junk Food เป็นทางออก ขณะเดียวกัน ก็ยอมเสียสตางค์แพงๆ เลือกผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มาเติมเต็มทดแทน ส่วนที่ขาดหายไป ถ้าคนไทยไม่รู้จักแฮมเบอร์เกอร์ เฟรนซ์ฟราย พิซซ่า แต่ยังคงกินน้ำพริกปลาทู ข้าวกล้อง ส้มตำ ข้าวเหนียว ไก่ย่าง แกงส้ม โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน เบาหวาน และอื่นๆ อีกมากมาย ก็ไม่น่าจะเจอในคนอายุน้อยๆ เหมือนที่พบมากในปัจจุบัน ที่สำคัญ เงินทองไม่รั่วไหล ออกนอกประเทศ จำนวนมหาศาลต่อปี Junk Food ส่วนใหญ่ จะให้พลังงานที่ได้มาจาก ส่วนประกอบ 3 อันดับแรกคือ น้ำตาล ไขมัน และแป้ง ดังนั้น ต้องพิจารณาให้ดี อาหารสำเร็จรูปบางชนิด จะมีฉลากโภชนาการแจ้งให้ทราบ อาหาร Junk Food ยอดนิยม ยังขาดสารอาหาร ที่มีความจำเป็นต่อการทำงาน ของร่างกายอยู่หลายชนิด และในทางตรงกันข้าม ก็มีพลังงานหรือสารอาหารบางตัว ที่ยังไม่สมดุลกับความต้องการ การดูแลสุขภาพร่างกาย ให้พร้อมสำหรับชีวิตประจำวัน เพื่อให้ร่างกายมีความสมบูรณ์ และแข็งแรงในรูปแบบง่ายๆ ซึ่งเราๆ ท่านๆ ท่องจำขึ้นใจ เป็นเสียงเดียวกันว่า หนึ่ง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สอง รับประทานอาหาร ให้ถูกหลักโภชนาการ และสาม พักผ่อนให้เพียงพอ แต่ถามว่ามีสักกี่คนที่ปฏิบัติทั้ง 3 ข้อนี้ได้อย่างแท้จริง
ภญ.ผศ.ดนิตา ภาณุจรัส |
|||||||||||||||||||||
แหล่งข้อมูล : คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร - www.pharm.su.ac.th | |||||||||||||||||||||
|
|||||||||||||||||||||
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved. |