หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
เรื่องของน้ำมันตับปลา ที่คุณควรระวัง
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


หลายคนนิยมรับประทานยาบำรุง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือวิตามินหลายๆ ชนิด แต่คุณจะรู้หรือไม่ว่าที่คุณรับประทานเข้าไปนั้น
มีส่วนประกอบของสารอะไรบ้าง และแต่ละอย่างมีคุณสมบัติ และผลต่อร่างกายอย่างไร? อย่าคิดว่าไม่สำคัญนะครับ ลองฟังเรื่องที่
ผมจะเล่า ต่อไปนี้ แล้วคุณจะต้องรีบกลับไปอ่านฉลากยา.....

เรื่องราวมีอยู่ว่ามีผู้หญิงคนหนึ่ง อายุอานามก็อยู่ในวัยห้าสิบต้นๆ ยังเป็นโสด และใส่ใจในสุขภาพของตนเป็นอย่างมาก ในแต่ละวันเธอจะรับประทานยาบำรุงชนิดต่างๆ 4-5 ชนิดเป็นประจำ รวมทั้งน้ำมันตับปลาด้วย ปกติก็เป็นคนแข็งแรงไม่มีโรคประจำตัวอะไร แต่แล้วอยู่มาวันหนึ่งฟ้ากำหนดให้เข้ารับการผ่าตัด เมื่อแพทย์ตรวจพบว่า มีปัญหาริดสีดวงทวารที่เป็นค่อนข้างมาก แพทย์ที่ทำการผ่าตัดก็อธิบายให้ฟังว่า เป็นการผ่าตัดธรรมดาไม่ได้ใหญ่โตอะไร ใช้เวลาไม่นานซึ่งเจ้าตัวก็รู้สึกผ่อนคลายไปได้ เนื่องจากไม่เคยได้รับการผ่าตัดมาก่อน

และก็เป็นธรรมดาที่ก่อนการผ่าตัด จะต้องมีการสอบถามรายละเอียด ว่ามีโรคประจำตัวอะไรบ้างไหม? เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจ หากว่ามีก็จะต้องมีการเตรียมตัวหลายอย่าง ก่อนที่จะเข้ารับการผ่าตัด แต่เธอผู้นี้ก็เป็นผู้มีสุขภาพดี แพทย์สอบถามถึงหยูกยาที่รับประทานเป็นประจำ เธอก็บอกว่าเป็นยาบำรุงทั่วไป 4-5 ชนิด โดยที่ไม่ได้ใส่ใจในรายละเอียด เนื่องจากคิดว่าไม่มีปัญหาอะไร?

แต่มนุษย์กำหนดหรือจะสู้ฟ้าลิขิต สตรีท่านนี้เข้ารับการผ่าตัดด้วยความกังวลเล็กน้อย เนื่องจากไม่เคยผ่าตัดมาก่อน ในห้องผ่าตัด แพทย์ก็ผ่าตัดไปอย่างเรียบร้อย ไม่มีปัญหาอะไร แต่เกมส์ยังไม่จบ ตัดสินแพ้ชนะยังไม่ได้ หลังผ่าตัดเธอมีเลือดซึมออกมามากกว่าปกติ จนแพทย์ต้องหาสาเหตุกันยกใหญ่ ว่าทำไมจึงมีเลือดออกมามากกว่าปกติอย่างนั้น

แพทย์ทางโรคเลือดต้องเข้าไปตรวจสอบ พบว่าการที่ผู้หญิงคนนี้มีเลือดออกมามากกว่าปกตินั้น เนื่องจากการทำงานของเกล็ดเลือดผิดปกติ ซึ่งประวัติของเธอไม่เคยมีมาก่อน เคยถอนฟัน เคยมีบาดแผลแต่ก็ไม่เคยมีปัญหาเลือดออกไม่หยุด

ความจริงปัญหาของเกล็ดเลือดทำงานผิดปกติ แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มแรก เป็นความผิดปกติแต่กำเนิด เป็นมาตั้งแต่เกิด โดยได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรษ ซึ่งก็มีอยู่หลายโรคด้วยกัน กลุ่มที่สองเกิดขึ้นภายหลัง ซึ่งอาจเป็นความผิดปกติของเกล็ดเลือดเอง (เป็นโรคของเกล็ดเลือด) หรืออาจจะเป็นผลจากสิ่งแวดล้อม เช่น จากสารเคมีต่างๆ ที่มีผลต่อการทำงานของเกล็ดเลือด โดยทั่วไปเกล็ดเลือดของเราเองจะมีอายุขัยประมาณ 7 วัน ร่างกายมีการสร้างเกล็ดเลือดขึ้นมาตลอดเวลา หากเป็นความผิดปกติของเกล็ดเลือดเอง ก็จะเป็นแบบถาวร แต่ถ้าหากเป็นผลจากสิ่งแวดล้อม เช่น จากการรับประทานยาบางชนิด หากหยุดยาแล้ว เกล็ดเลือดที่ผิดปกติก็จะค่อยๆ หมดไป ในระยะเวลาประมาณ 7 วัน เกล็ดเลือดตัวใหม่ๆ ที่ร่างกายเราสร้างขึ้นมา ก็จะสามารถทำหน้าที่ของมันได้ตามปกติ

ในกรณีของสตรีรายนี้ไม่เคยมีประวัติเลือดออกผิดปกติมาก่อน ไม่มีประวัติความผิดปกติของเกล็ดเลือดในครอบครัว ทำให้มีความเป็นไปได้น้อยที่จะมาจากความผิดปกติมาแต่กำเนิด การค้นหาสาเหตุจึงมุ่งไปที่ความผิดปกติ ที่เกิดขึ้นภายหลังโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากยาและสารเคมีต่างๆ ที่ได้รับทั้งยาจีน และยาไทยแผนโบราณบางชนิด ก็มีผลกับการทำงานของเกล็ดเลือดได้ แต่เธอผู้นี้ไม่ได้ใช้ยาแผนโบราณมาก่อน ก็เป็นอันตัดทิ้งไป หันมาดูยาแผนปัจจุบันที่ใช้ ซึ่งมีวิตามินนานาชนิด มากมายตั้งแต่ A-Z รวมทั้งน้ำมันตับปลาด้วย หลายคนคงเคยรับประทาน และบางคนก็รับประทานเป็นประจำ แต่จะมีสักกี่คนที่จะรู้ว่าน้ำมันตับปลามีสาร ที่มีผลต่อการทำงานของเกล็ดเลือดด้วย โดยทำให้เกล็ดเลือดทำงานผิดปกติเช่นเดียวกับ แอสไพริน และยาที่มีอยู่ทั่วไปในยาแก้ปวดที่ไม่ใช่ สเตียรรอยด์ (NSAIDs : nonsteroidal anti- inflammatory drugs) ไม่นับรวมพาราเซตามอน ซึ่งไม่มีผลต่อเกล็ดเลือด ดังนั้น ถ้าได้รับยาที่อาจมีผลต่อการทำงานของเกล็ดเลือด จะต้องหยุดยาก่อนการผ่าตัดประมาณ 7-10 วัน เพื่อให้เกล็ดเลือดตัวใหม่ที่สมบรูณ์ และไม่ได้รับผลกระทบจากยาเข้ามาแทนที่

การรักษาสตรีรายนี้จะต้องได้รับเกล็ดเลือดที่ปกติ (ของคนอื่น) เข้าไปทำหน้าที่แทนเกล็ดเลือดที่ผิดปกติของตนเอง เลือดจึงหยุดไหลและสามารถกลับบ้านได้โดยปกติ พร้อมกับบทเรียนที่ว่าถ้าจะรับประทานยาอะไร? ก็ควรรู้ว่ามันคือยาอะไร? และมีผลต่อร่างกายอย่างไร? หากเป็นยาแผนปัจุบัน ปัญหาก็จะน้อยหน่อย ตรงที่เราจะรู้รายละเอียดของยาอย่างครบถ้วน แต่ถ้าหากเป็นยาแผนโบราณ ทั้งยาจีนและยาไทย กระทั่งผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แพทย์เองก็อาจจะมึนศีรษะได้ เนื่องจากจะไม่รู้ว่าฤทธิ์ของยาเป็นอย่างไร และผลข้างเคียงมีอะไรบ้าง หากจะเข้ารับการผ่าตัด คงต้องมีการตรวจสอบกันอย่างละเอียดลออสักหน่อย มิเช่นนั้นอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่คาดไม่ถึงขึ้นได้

แล้วคุณละครับ? รับประทานยาอะไรอยู่บ้าง รู้จักมันดีแล้วหรือยัง? ยังไม่สายนะครับที่จะกลับไปย้อนอ่านเอกสารกำกับยาใหม่อีกครั้ง และที่สำคัญต้องบอกหมอประจำตัวคุณให้หมดด้วยว่า รับประทานยาหรือผลิตภัณฑ์ใดเป็นประจำอยู่บ้าง

 

พ.อ.รศ.นพ. วิเชียร มงคลศรีตระกูล

 
       
    แหล่งข้อมูล : นิตยสาร - HealthToday  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
คุณค่าจากปลา ... ราชาของโปรตีน
 
คุณประโยชน์ของ ผัก ผลไม้ และสมุนไพรบางอย่าง
 
ข้าวกล้อง วิตามิน...เพียบ
 
สุดยอดอาหารถั่วเหลือง
 
เกิดอะไรเมื่อกินวิตามินไม่พอดี
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.