ความต้องการในการพักผ่อน ของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ อายุ สภาพร่างกาย และสุขภาพ เช่น คนอายุน้อย จะต้องการการพักผ่อน มากกว่าคนสูงอายุ สภาพร่างกายคนบางคนพักผ่อนน้อย ก็สดชื่นทำงานได้ดี และในคนที่สุขภาพไม่ดี มีโรคทางกาย ก็ต้องการการพักผ่อน มากกว่าคนที่สุขภาพดีกว่า เป็นต้น
นอนไม่หลับถือว่าเป็นโรคหรือไม่
นอนไม่หลับ ไม่ใช่โรค แต่เป็นภาวะ หรืออาการที่เกิดขึ้น ร่วมกับเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน ที่ทำให้เครียด หรือไม่สบายใจ ความผิดปกติทางกาย หรือจิตใจ หรือสภาพแวดล้อมบางอย่าง เช่น การแปลกสถานที่
เมื่อใดจึงจะเรียกว่ามีปัญหาเรื่องการนอนไม่หลับ
มีข้อสังเกตว่า เมื่อรู้สึกว่านอนไม่หลับ หลับไม่สนิท หรือหลับไม่พอเป็นเวลา 3 วันใน 1 สัปดาห์ ติด
ต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 เดือน และรู้สึกวิตกกังวลต่ออาการที่เป็น ร่วมกับหน้าที่การทำงานที่แย่ลง ก็จะถือว่านอนไม่หลับ เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข
การนอนไม่หลับเกิดจากสาเหตุใด
สาเหตุของการนอนไม่หลับ เกิดจากปัจจัยทางกาย ทางจิตใจ และสภาพแวดล้อมของการนอน
|
|
ปัจจัยทางกาย ได้แก่ โรคที่ทำให้มีอาการเจ็บปวดมาก หายใจไม่สะดวกหรือผลจากยา และสารกระตุ้นบางอย่าง เช่น กาแฟ |
|
|
ปัจจัยทางจิตใจ ได้แก่ เหตุการณ์ในชีวิตที่เกิดขึ้น อาจเป็นเรื่องที่ทำให้เสียใจ ไม่สบายใจ หรือเป็นอาการเริ่มแรก ของโรคทางจิตบางอย่าง |
|
|
ส่วนสภาพแวดล้อมของการนอน ได้แก่ สภาพห้องนอน หรือการแปลกต่อสถานที่ ก็อาจทำให้นอนไม่หลับได้ |
ลักษณะอาการที่พบร่วมกับอาการนอนไม่หลับ
นอนไม่หลับ มักพบร่วมกับอาการของความเครียด ความไม่สบายใจ และเมื่อเริ่มนอนไม่หลับ เราก็มักจะเริ่มรู้สึกกลัว การนอนไม่หลับ หมกมุ่นเกี่ยวกับการนอนไม่หลับ พยายามบังคับให้ตนเองนอนให้หลับ โดยปกติ การนอนเป็นธรรมชาติบังคับไม่ได้ ทำให้การนอนในคืนถัดไป แย่ลงจากความกังวลของเราเอง เกิดเป็นวงจรที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การนอนไม่หลับรุนแรงมากขึ้น ถึงแม้บางครั้ง สาเหตุที่ทำให้นอนไม่หลับ จะหมดไปแล้วก็ตาม
ส่งผลเสียต่อสุขภาพหรือไม่อย่างไร
การนอนไม่หลับ จะทำให้เกิดผลเสียต่อ สุขภาพร่างกายและจิตใจ อาจทำให้เกิดโรคทางกาย หรือทำให้โรคทางกายแย่ลง ส่วนทางจิตใจ ก็จะทำให้เกิดความไม่สบายใจ ความเครียด ไม่มีสมาธิในการทำงาน กลัวว่าจะเป็นโรคร้ายแรง หรือกลัวการนอนไม่หลับได้
เมื่อใดจึงควรมาพบแพทย์
ควรมาพบแพทย์ เมื่อการนอนไม่หลับ เกิดเป็นปัญหาดังที่กล่าวมาข้างต้น เพราะการที่มาพบแพทย์เร็ว จะทำให้พบสาเหตุโดยเร็ว การรักษาจะง่ายขึ้น ถ้าปล่อยให้เป็นมาก การรักษาจะยากขึ้น หรือถึงแม้ว่าจะไม่มีโรคใดๆ ก็ตาม ก็จะได้รับคำแนะนำการปฏิบัติ เกี่ยวกับการนอนหลับที่ถูกต้อง ทำให้ป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นในอนาคตได้
การแก้ไข / การปฏิบัติตนที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันปัญหาการนอนไม่หลับ
การแก้ไขปัญหานอนไม่หลับ ได้แก่ การค้นหาสาหตุที่แท้จริง และทำการรักษาร่วมกับ การปฏิบัติที่ถูกต้องเกี่ยวกับการนอน
การปฏิบัติที่ถูกต้องเกี่ยวกับการนอน เป็นสิ่งที่สำคัญมากกับทุกคน เพราะจะป้องกันปัญหาการนอนไม่หลับ หรือช่วยให้การนอนไม่หลับดีขึ้นได้ การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเกี่ยวกับการนอน ได้แก่
|
|
ตื่นนอนให้เป็นเวลา ถึงแม้จะนอนได้น้อยเพียงใดก็ตาม การตื่นนอนตรงเวลา จะทำให้ร่างกายปรับ วงจรการนอนปกติได้ในคืนถัดไป จะทำให้หลับได้ง่ายขึ้นเอง |
|
|
จัดสภาพแวดล้อมในห้องนอนให้ดี เช่น อากาศที่ไม่ร้อน หรือหนาวเกินไป เสียงไม่ดังเกินไป แสงต้องไม่สว่างมากเกินไป |
|
|
ใช้เตียงนอนเพื่อการนอนเท่านั้น ห้ามใช้ทำกิจกรรมอื่น เช่น อ่านหนังสือ หรือทำงานเล็กๆ น้อยๆ ควรจะนอน ก็ต่อเมื่อรู้สึกง่วง ถ้านอนไม่หลับใน 10 นาที ให้ลุกจากเตียง ไปทำกิจกรรมที่สบายใจ เมื่อง่วงจึงมานอนใหม่ |
|
|
ออกกำลังกาย ให้สม่ำเสมอทุกวันในตอนเย็น ห้ามออกก่อนนอน เพราะคิดว่าจะทำให้เพลียหลับง่ายขึ้น ซึ่งจะทำให้หลับยากขึ้นกว่าเดิม |
|
|
งดสารกระตุ้นหลังเที่ยงวัน เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม การดื่มสุรา เบียร์ทำให้หลับง่ายตอนแรก แต่จะทำให้หลับไม่สนิท |
|
|
การอาบน้ำอุ่น ดื่มนมอุ่นๆ การผ่อนคลายต่างๆ เช่น การทำสมาธิ จะช่วยให้หลับง่ายขึ้น |
|
|
อย่าบังคับให้นอนหลับ เพราะบังคับไม่ได้ หรืออย่าคิดว่าการนอนคืนนี้ จะเหมือนคืนก่อน จะทำให้เกิดความกังวลมาก ทำให้หลับยากขึ้น |
|
|
อย่าไปนอนชดเชยตอนกลางวัน จะทำให้นอนไม่หลับตอนกลางคืน ถ้าไม่จำเป็นไม่ควรใช้ยาเพื่อทำให้หลับ เพราะจะทำให้ติด และเมื่อหยุดยา จะทำให้นอนไม่หลับมากขึ้นกว่าเดิม |
ปัญหาความไม่สบายใจเพียงเล็กน้อย แล้วทำให้นอนไม่หลับ อาจนำไปสู่ปัญหาการนอนไม่หลับที่รุนแรง และการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องได้อย่างมาก การมาพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและแก้ไขโดยเร็วตั้งแต่แรก จะทำให้ปัญหารุนแรงน้อยลง รวมทั้งป้องกันปัญหาการนอนไม่หลับในอนาคตได้ด้วย
อ. นพ. ธีรศักดิ์ สาตรา
|