หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
สารพัดสมุนไพรคลายวิตกกังวล
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


นี่แหละเรียกอาการวิตกกังวล 

อาการวิตกกังวล (Anxiety) เกิดจากปฏิกิริยาหลั่งสารอะดรีนาลีนในร่างกาย เป็นความรู้สึกกังวล และพะวักพะวง ซึ่งโดยทั่วไปสามารถเกิดได้ชั่วคราว เช่น มีนัดสัมภาษณ์ครั้งสำคัญ หรือการสอบ แต่ความกังวลอาจกลายเป็นปัญหา หากกังวลเกินไป โดยหาสาเหตุที่แท้จริงไม่ได้ นอกจากนี้ยังเกิดจากการได้รับสารคาเฟอีนมากเกินไป หรือใช้ยาลดความอ้วน ยาสเตียรอยด์ หรือยาปฏิชีวนะอื่นๆ รวมถึงผู้หญิงที่อยู่ในช่วงมีประจำเดือน หรือคนที่เป็นโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ ก็อาจทำให้มือไม้สั่นได้

อย่างไรก็ตาม แม้ความกังวลจะเกี่ยวกับสภาวะทางอารมณ์โดยตรง แต่สามารถทำให้เกิดอาการทางกายได้ เช่น ปวดหัวบ่อย ปวดตามกล้ามเนื้อและข้อ อาหารไม่ย่อย ท้องเสีย นอนไม่หลับ กล้ามเนื้อเกร็งตัว เวียนหัวและมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปัสสาวะบ่อย ในบางรายรู้สึกเบื่ออาหาร ปากแห้ง เหงื่อออก หายใจไม่ออก และอ่อนเพลีย นอกจากนี้ยังอาจมีอาการตื่นกลัวร่วมด้วย เช่น เหงื่อแตก กระสับกระส่าย และกระวนกระวาย โดยทั่วไปอาการจะหายไปเอง เมื่อสาเหตุที่ทำให้กังวลหมดไป แต่ในบางรายอาจมีอาการติดต่อกันยาวนานเป็นปี อาการแบบนี้เรียกว่า ความวิตกกังวลเรื้อรัง เมื่อเป็นหนักขั้นรุนแรง อาจก่อให้เกิดอาการหมดอาลัยตายอยาก นอนไม่หลับ และมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรค ที่เกิดร่วมกับความเครียดด้วย เช่น ไมเกรน

พฤติกรรมบำบัดอาการกังวล

 
1.
ฝึกควบคุมการหายใจ เช่น หายใจเข้าทางจมูกทั้งสองข้างช้าๆ ลึกๆ และหายใจออกช้าๆ ทางปาก ฝึกทำบ่อยๆ
 
2.
ฝึกเล่นโยคะและไท้เก๊ก จะช่วยให้เกิดความสงบ โดยจะทำให้เกิดความสมดุลระหว่างกายและใจ โยคะจะช่วยพัฒนาการหายใจให้ลึกและช้า ที่สำคัญทำให้เกิดสมาธิ
 
3.
ควบคุมอาหาร ในบางรายพบว่าอาหารบางชนิดกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวล ซึ่งอาจเกิดจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ หรือปฏิกิริยาไวต่อสารผสมในอาหาร ดังนั้นเราควรบันทึกรายชื่ออาหารเหล่านี้ไว้ และงดอาหารดังกล่าว
 
4.
คิดบวก มองตัวเองในแง่ดี คิดหาทางแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ และช่วยเหลือผู้อื่นที่กำลังเดือดร้อน จะทำให้รู้สึกว่าปัญหาของเรานั้นเป็นเรื่องเล็กน้อย
 
5.
ทุ่มเทกับสิ่งที่ทำอย่างเต็มที่ ควรจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำในปัจจุบัน อย่าฝังใจในอดีต และอย่ากังวลกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง

ชาสมุนไพรคลายวิตกกังวล

 
•
สะระแหน่ เด็ดใบแก่มาตากแห้งทำเป็นชาชงดื่ม จะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย
 
•
ลำไย มีสรรพคุณช่วยคลายเครียด ใจสั่น นอนไม่หลับ หลงลืม และกระสับกระส่าย โดยนำเนื้อลำไยแห้งประมาณ 5-10 กรัม เติมน้ำตาลทรายในปริมาณที่พอเหมาะ แล้วเคี่ยวจนเหนียวข้น กินวันละ 2 ครั้ง
 
•
ขี้เหล็ก มีสรรพคุณในการลดอาการวิตกกังวล ความเครียด และอาการนอนไม่หลับ โดยใช้ใบขี้เหล็กแห้งประมาณ 30 กรัม หรือใบสด 50 กรัม ต้มเอาแต่น้ำ ดื่มก่อนนอน
 
•
คาโมไมล์ ดื่มชาสมุนไพรคาโมไมล์ก่อนนอน จะช่วยให้ผ่อนคลายและหลับสบาย

ผ่อนคลายด้วยน้ำมันหอม

 
•
ธาตุเจ้าเรือนดิน ใช้กลิ่นแพ็ทชูลี่ แฝกหอม กระดังงา มะลิ ไม้จันทน์
 
•
ธาตุเจ้าเรือนน้ำ ใช้กลิ่นลาเวนเดอร์ เจอเรเนียม กระดังงา โหระพา มะลิ กำยาน
 
•
ธาตุเจ้าเรือนลม ใช้กลิ่นส้ม เปปเปอร์มินต์ มะกรูด โหระพา ตะไคร้หอม มะนาวไทย
 
•
ธาตุเจ้าเรือนไฟ ใช้กลิ่นโรสแมรี่ ยูคาลิปตัส ขิง
 
•
ธาตุเป็นกลาง ใช้กลิ่นกุหลาบ

วิธีใช้

 
1.
จะสูดดม หรือจะแช่เป็นน้ำมันนวดบริเวณคอ ไหล่ ขมับ หรือจะใช้ทาทั้งตัวก็ได้ นอกจากนี้ยังสามารถผสมไว้ แล้วใส่ขวดลูกกลิ้งเล็กๆ พกติดตัวไว้ใช้ในยามที่ต้องการ
 
2.
ทำสเปรย์ ฉีดตามตัว ฉีดปรับอากาศ  ผสมเป็นโลชั่นบำรุงผิว หรือจะผสมน้ำอุ่นแช่น้ำอาบก็ได้ค่ะ

วิตามิน...กินคลายเครียด

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีอาการวิตกกังวล ลองกินวิตามินบีรวม วิตามินซี เพื่อช่วยแก้เครียด หรือกินวิตามินอี เพื่อให้ระบบประสาทส่วนกลางทำงานดีขึ้น หรือจะกินเกลือแร่จำพวกแคลเซียม แมกนีเซียม สังกะสี ซึ่งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าว เป็นอนุพันธ์ของกรดอะมิโน จะช่วยเพิ่มระดับสารเซอโรโตนินในสมอง ซึ่งช่วยคลายอาการวิตกกังวลได้ค่ะ
 
 
Tip อาการวิตกกังวลที่ควรไปพบแพทย์

 
1.
หายใจไม่สะดวก เจ็บหน้าอก หรือรู้สึกอึดอัด
 
2.
เวียนหัว ไม่สามารถทรงตัวอยู่ได้ หรือเป็นลม ใจสั่น มือสั่น และตัวสั่น
 
3.
เหงื่อออกมาก รู้สึกหนาวๆ ร้อนๆ  รู้สึกชา หรือซ่าที่มือและเท้า
 
4.
คลื่นไส้ และท้องไส้ปั่นป่วน กลืนอาหารลำบาก
 
5.
กลัวว่าจะเสียสติ หรือกลัวว่ากำลังจะตาย

 

 

นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 171

 
       
    แหล่งข้อมูล : www.cheewajit.com  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
บันได 5 ขั้น สู่ชีวิตใหม่ ที่มีค่าและเป็นสุข
 
สุขภาพจิตดี ด้วยการปรับวิธีคิดให้เหมาะสม
 
ความเครียด
 
เทคนิคคลายเครียด
 
บรรเทาปวดหัวจากความเครียดได้ด้วยตัวเอง
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.