หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
การรักษา ข้อเข่าเสื่อม
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


การรักษาข้อเข่าเสื่อมในสมัยก่อน มีแต่การใช้ยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล รับประทานเวลามีอาการปวด ถ้ายังปวดอยู่ก็อาจจะใช้ยาต้านการอักเสบทีไม่ใช่สเตียรอยด์ เพื่อลดอาการปวดและอักเสบลง แต่ควรใช้เพียงระยะเวลาหนึ่งจนหายปวดแล้วหยุดยาได้ แต่ถ้ายังไม่สามารถลดการใช้งานข้อ ยังมีน้ำหนักมาก ข้อก็ยังจะเสื่อมต่อไปจนต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียมในที่สุด ดังนั้นถ้าเป็นเมื่อ 10 ปีก่อน ผู้ที่เป็นข้อเข่าเสื่อมคงมีแต่การรอผ่าตัดใส่ข้อเทียม เพื่อแก้ไขข้อที่เสื่อมแต่ในปัจจุบัน คนไทยวัยทองที่มีปัญหาข้อเข่าเสื่อมนับว่าโชคดีมาก เพราะในปัจจุบันมีวิธีการชะลอความเสื่อมของข้อเข่าได้ ด้วยการใช้ยาหลายชนิด เช่น ยาเสริมกระดูกอ่อนในข้อที่เรียกว่ายา กลูโคซามีนซัลเฟต ที่มีประสิทธิภาพลดอาการปวดข้อเข่าได้เมื่อใช้ไปประมาณ 2-3 เดือน และช่วยชะลอความเสื่อมทำให้กระดูกอ่อนในข้อเข่าไม่เสื่อมทรุดลง หลังจากใช้ติดต่อกันไป 3-5 ปี พบว่าระยะห่างของกระดูก 2 ข้างในข้อไม่ได้แคบลง แต่กลับกว้างขึ้น แปลว่ากระดูกอ่อนในข้อดูเหมือนจะหนาขึ้น

ในขณะที่ผู้ที่ไม่ได้ใช้ยานี้ มีระยะห่างนี้แคบเข้ามามาก หรือยาที่ลดการอักเสบให้มีการทำลายกระดูกอ่อนน้อยลงที่เรียก ยาไดอะซีลีน เพราะมันสามารถลดการสร้างสารตัวกลางที่ทำให้เกิดการอักเสบในข้อ เมื่อข้อไม่มีการอักเสบ การทำลายข้อก็น้อยลง ยาไตอะซีลีน สามารถลดอาการปวดข้อ ลดการอักเสบและชะลอความเสื่อมของข้อได้ เมื่อรับประทานต่อเนื่อง 2-3 เดือนขึ้นไป หรือแม้กระทั่งมีการฉีดน้ำเลี้ยงข้อเทียม ที่มีคุณสมบัติเหมือนน้ำเลี้ยงข้อของคนหนุ่มคนสาวที่มีความเหนียวและความยืดหยุ่นสูง เข้าไปทดแทนน้ำเลี้ยงข้อของคนวัยทองที่เป็นข้อเสื่อมที่ไม่ค่อยมีความเหนียว ไม่สามารถหล่อลื่นหรือลดแรงกดดัน หรือนำพาอาหารมาเลี้ยงกระดูกอ่อนในข้อได้ดี เหมือนน้ำเลี้ยงข้อของคนอายุน้อย

นอกจากนี้น้ำเลี้ยงข้อเทียมที่ฉีดเข้าไปในข้อ ยังสามารถกระตุ้นให้เซลเยื่อหุ้มข้อ สร้างน้ำเลี้ยงข้อเทียมที่ดีออกมาอย่างต่อเนื่อง ได้เป็นระยะเวลานานประมาณ 6 เดือน ดังนั้นการฉีดน้ำเลี้ยงข้อเทียมเข้าข้อเพื่อรักษาข้อเข่าเสื่อม จึงควรมีการฉีดทดแทนทุกๆ 6 เดือน ในระยะ 1-2 ปีแรก ต่อไปเมื่อมี การสร้างน้ำเลี้ยงข้อเทียมที่ดีออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สภาพในข้อดีขึ้น ชะลอความเสื่อมของข้อแล้ว การฉีดน้ำเลี้ยงข้อเทียมทดแทน อาจจะสามารถยืดระยะเวลาการฉีดออกไป เป็นทุก 8 เดือนหรือมากกว่านั้นได้ อย่างไรก็ตาม การรักษาข้อเข่าเสื่อมด้วยน้ำเลี้ยงข้อเทียม ยังมีราคาค่อนข้างแพง โดยการฉีดยา 1 ชุด (3 เข็ม - 5 เข็ม แล้วแต่ชนิดของยาฉีด) จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ระหว่าง 1-2 หมื่นบาท สำหรับข้อเข่า 1 ข้าง ดังนั้นการพิจารณารับการรักษาด้วยน้ำเลี้ยงข้อเทียม จึงควรคำนึงถือค่าใช้จ่ายในการรักษาด้วย

การรักษาเหล่านี้สามารถชะลอความเสื่อมของข้อเข่าให้ช้าลงได้ แต่จะได้ผลดีมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับว่าเริ่มรักษาเมื่อใด ถ้าเริ่มรักษาตั้งแต่ข้อเสื่อมระยะแรกๆ ก็จะทำให้ข้อสามารถคงสภาพอยู่ได้นาน แต่ถ้าเริ่มเมื่อข้อเข่าเสื่อมไปมากแล้ว ก็อาจจะบรรเทาอาการปวดและชะลอความเสื่อมได้ระดับหนึ่ง แต่ข้อเข่าอาจจะไม่อยู่ในสภาพที่ดีเหมือนเดิม เพราะการรักษาไม่สามารถทำให้ข้อที่เสื่อมไปแล้วกลับมาเป็นข้อปกติได้

ดังนั้น การใช้งานข้อเข่าในการยืนหรือเดิน ก็อาจจะมีอาการปวดบ้างและใช้งานไม่ได้เหมือนแต่ก่อน นอกจากนี้การรักษาข้อเข่าเสื่อมให้ได้ผลสูงสุด ก็ต้องอาศัยการลดน้ำหนัก การออกกำลังกายและการใช้งานข้ออย่างถูกต้องร่วมด้วย ไม่ใช่อาศัยแต่ยาอย่างเดียว ในกรณีที่ข้อเข่าเสื่อมจนถึงขั้นสุดท้าย คือไม่มีกระดูกอ่อนหุ้มผิวข้อเหลือแล้ว กระดูก 2 ข้างมาชนกัน ผู้ป่วยแค่ขยับตัวก็ปวดเข่าแล้ว ก็คงต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนใส่ข้อเข่าเทียม

ดังนั้น เมื่อท่านเริ่มมีอาการเดินมากแล้วปวดข้อเข่าหรือเดินแล้วข้อเข่ามีเสียงดัง ควรรีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคข้อหรือกระดูก เพื่อได้รับการรักษาและคำแนะนำที่ถูกต้องตั้งแต่ข้อเข่าเสื่อมระยะแรก ไม่ควรทนปวดเอาหรือรับประทานแต่ยาแก้ปวด รอจนข้อเข่าเสื่อมมากขึ้น มากขึ้น จนทนไม่ไหวค่อยไปพบแพทย์ ถึงตอนนั้นข้อเข่าคงจะเสื่อมไปมากแล้ว จนเกินที่จะรักษาสภาพเดิมเอาไว้ได้ กลายเป็นความพิการในที่สุด ถ้ารักษาตั้งแต่ระยะแรกจะสามารถชะลอความเสื่อมให้เกิดช้าลงมาก จนไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อ เพราะการผ่าตัดเปลี่ยนใส่ข้อเทียมมีค่าใช้จ่ายสูงมาก นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงของการผ่าตัดที่อาจเกิดอันตรายขึ้น โดยเฉพาะในคนสูงอายุ

 
       
    แหล่งข้อมูล : www.ramaclinic.com  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
เก๊าท์
 
อาหารกับโรคเก๊าต์
 
เป็นข้อต่ออักเสบ ควรออกกำลังกายอย่างไร
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.