ในผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน เมื่อเกิดภาวะไตวายแล้ว ก็รักษาได้เช่นเดียวกับที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ แม้ผลการรักษาจะไม่ดีเท่ากับโรคอื่น เนื่องจากมักมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ของโรคเบาหวานร่วมด้วย ซึ่งจะปรากฏชัดเมื่อมีชีวิตยืนยาวขึ้น อย่างไรก็ตาม วิธีการรักษาในปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาให้ดีขึ้นเป็นลำดับ ผลการรักษาจึงดีขึ้นกว่าแต่ก่อน วิธีการรักษาเมื่อไต ไม่สามารถกลับทำงานได้อีกที เป็นที่ยอมรับกันขณะนี้ คือ การขจัดของเสียทางช่องท้อง การรักษาด้วยเครื่องไตเทียม และการปลูกถ่ายไต หรือที่เรียกกันในหมู่คนทั่วไปว่า "การล้างท้อง" "การฟอกเลือด และ "การเปลี่ยนไต" ตามลำดับ
ชื่อที่เรียกกันทั่วไปนี้ ในบางครั้งก็ทำให้เกิดความสับสน และความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เกี่ยวกับการรักษา จนทำให้ผู้ป่วยเกิดความวิตกกังวลมาก
การขจัดของเสียออกจากช่องท้อง
วิธีการขจัดของเสียทางช่องท้อง ที่นำมาใช้เมื่อไตเสียถาวรแล้ว ต้องทำอย่างไรต่อเนื่องตลอดไป วิธีนี้อาศัยเยื่อบุช่องท้อง ช่วยกรองของเสียออกจากร่างกาย โดยการใส่น้ำยาเข้าในช่องท้อง ทางสายพลาสติก ที่แพทย์ได้ทำผ่าตัดฝังไว้ในช่องท้อง ทิ้งน้ำยาไว้ในช่องท้องประมาณ 4-6 ชั่วโมง แล้วปล่อยน้ำยาออกจากช่องท้องแล้วทิ้งไป ของเสียในเลือดที่ซึมออกมาอยู่ในน้ำยา จะถูกกำจัดจากร่างกาย โดยทั่วไปจะทำการเปลี่ยนน้ำยาวันละ 4 ครั้ง และสามารถปรับเปลี่ยนการเปลี่ยนถุงน้ำยา ให้เข้ากับกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วยได้ ขณะที่มีน้ำยาในช่องท้อง ผู้ป่วยสามารถทำงาน และมีกิจกรรมได้ตามปกติ มีผู้ป่วยบางรายไปเต้นรำได้ วิธีนี้จึงเป็นวิธีการรักษาที่ดี และได้ผลวิธีหนึ่ง ข้อดี คือผู้ป่วยสามารถทำเองได้ และไม่ต้องมาโรงพยาบาลบ่อย ข้อเสีย คือหากไม่ระมัดระวังความสะอาดให้ดี โดยเฉพาะในการเปลี่ยนถุงน้ำยา จะเกิดการติดเชื้อได้ และราคาถุงน้ำยาค่อนข้างสูง
สายพลาสติกที่ฝังไว้ในช่องท้อง และน้ำยาที่อยู่ในช่องท้อง จะไม่ทำให้มีอาการเจ็บปวด นอกจากเมื่อเกิดการติดเชื้อ ที่ผิวหนังบริเวณที่ฝังสาย หรือมีการติดเชื้อในช่องท้อง
การรักษาด้วยเครื่องไตเทียม
การรักษาด้วยเครื่องไตเทียม หรือ ที่เรียกกันทั่วไปว่า การฟอกเลือด เป็นการนำเลือดจากหลอดเลือดที่เตรียมไว้แล้ว ออกจากร่างกาย ผ่านเข้ามาในตัวกรองของเสีย เลือดที่ถูกกรองแล้ว จะไหลกลับเข้าร่างกาย ทางหลอดเลือดอีกหลอดหนึ่ง วิธีการนำเลือดเข้า - ออกทางหลอดเลือดนี้ คล้ายกับการให้เลือดหรือน้ำเกลือทางหลอดเลือด (มิใช่การผ่าตัดเอาเลือดออกมาล้าง) โดยทั่วไปทำครั้งละ 5 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ข้อดี คือ ไม่ต้องทำเอง และการรักษาใช้เวลาไม่มาก ข้อเสีย คือ ต้องมาโรงพยาบาลบ่อย และ ไม่ได้มีการขจัดของเสียอยู่ตลอดเวลา อย่างการรักษาทางช่องท้อง
นอกจากนั้น ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ยังมีปัญหาของหลอดเลือดและหัวใจ ซึ่งอาจทำให้การรักษา ได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร
การรักษาทั้งสองวิธีดังกล่าวข้างต้น ต้องกระทำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง และต้องทำการขจัดของเสียอย่างเพียงพอ เพราะมิฉะนั้น การรักษาจะไม่ได้ผล และผู้ป่วยจะไม่แข็งแรงพอ ที่จะทำงานได้ เหตุที่ต้องรักษาตลอดไป เพราะการรักษาเหล่านี้ เป็นการทำงานทดแทนไตที่เสียไป ตามปกติ ไตต้องทำงานขับของเสีย ที่เกิดขึ้นในร่างกาย อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา วิธีรักษาเมื่อไตเสียไปแล้ว จึงต้องทำเช่นเดียวกัน
การปลูกไตถ่ายไต
การปลูกถ่ายไต หรือ การเปลี่ยนไต คือ การนำไตของผู้อื่น ที่เข้าได้กับผู้ป่วย มาปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วย มิใช่การเปลี่ยนเอาไตผู้ป่วยออก แล้วเอาไตผู้อื่นใส่เข้าไปแทนที่ การผ่าตัดทำโดยวางไตใหม่ ไว้ในอุ้งเชิงกรานข้างใดข้างหนึ่งของผู้ป่วย แล้วต่อหลอดเลือดของไตใหม่ เข้ากับหลอดเลือดของผู้ป่วย และต่อท่อไตใหม่ เข้าในกระเพาะปัสสาวะของผู้ป่วย การปลูกถ่ายไตนี้ ใช้ไตเพียงข้างเดียวก็พอ ถ้าร่างกายของผู้ป่วยรับไตใหม่ได้ดี และไม่มีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ไตที่ได้รับใหม่จะทำงานได้ดี แต่ผู้ป่วยต้องได้รับยา กดภูมิต้านทานตลอดชีวิต และจะต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ตลอดไป หากขาดยากดภูมิต้านทาน ร่างกายจะต่อต้านไตที่ได้รับใหม่ ทำให้ไตเสีย และยังอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ปัจจุบันการปลูกถ่ายไต ถือเป็นการรักษาภาวะไตวาย ขั้นสุดท้ายที่ดีที่สุด แต่การรักษาวิธีนี้ ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ และมีมากกว่าวิธีอื่นที่กล่าวมาแล้ว แต่ถ้าผลที่ได้ดี ผู้ป่วยจะมีชีวิตใกล้เคียงคนปกติมากกว่าวิธีอื่น ผลการรักษาจะดี ถ้าเป็นผู้ที่ไม่มีโรคของระบบอื่น นอกเหนือจากโรคไต ไม่มีภาวะติดเชื้อ และอายุไม่มาก เป็นต้น
ในการปลูกถ่ายไต แพทย์จึงต้องพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน และรอบคอบ ว่าผู้ป่วยเหมาะสม กับการรักษาด้วยวิธีนี้หรือไม่ รวมทั้งต้องเตรียมความพร้อม ทั้งด้านร่างกายและจิตใจให้ผู้ป่วยด้วย มิฉะนั้น ผลจะไม่ดี และในบางครั้งอาจเสียชีวิตได้ สำหรับในผู้ป่วยโรคเบาหวานนั้น ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ทั้งในระยะก่อนผ่าตัด ขณะผ่าตัด และหลังผ่าตัด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ ระหว่างการรักษาด้วยวิธีปลูกถ่ายไตทุกระยะ
จากประสบการณ์ในการรักษาที่ผ่านมาของผู้เขียน พบว่าผู้ป่วยที่มีกำลังใจดี และรักษาใจของตนเองได้ดี ไม่ว่าจะรักษาด้วยวิธีใด ผลการรักษามักจะดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี แม้โรคที่เป็นจะรุนแรง หรือแม้จะทุพพลภาพ การรักษาใจร่วมกับการรักษาวิธีอื่นๆ ดังกล่าวมาแล้ว จึงมีความสำคัญมาก และเป็นสิ่งที่ทั้งแพทย์ ผู้ป่วย และญาติ ควรให้ความสำคัญ และช่วยกันทำ เพื่อผู้ป่วยจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข แม้จะเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่
ศ.พญ. สุมาลี นิมมานิตย์
|