มะเร็งตับ เป็นโรคมะเร็งที่คนไทยเป็นกันไม่น้อย และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงส่วนสาเหตุที่แท้จริงยังเป็นที่ศึกษาวิจัย แต่ตัวการที่กระตุ้นการเกิดมะเร็งในตับที่สำคัญ ได้แก่ การอักเสบของตับเรื้อรัง จากเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี ซึ่งติดจากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่งได้ด้วยวิธีเดียวกันกับการติดเชื้อเอดส์ เช่น จากเพศสัมพันธ์ ทางสารคัดหลั่ง เลือด การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน นอกจากนี้คนที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นกิจวัตรกระทั่งเป็นโรคตับแข็ง หรือคนที่เป็นโรคพยาธิใบไม้ในตับจากการกินอาหารดิบๆ สุกๆ ก็เป็นสาเหตุที่นำไปสู่การเป็นมะเร็งตับเป็นลำดับต่อไปได้ ส่วนการรับประทานอาหารที่มีสารพิษ เช่น เชื้อราจำพวกอัลฟาทอกซินที่พบในถั่วลิสงขึ้นรา ก็เป็นที่ยืนยันว่ามีอัตราเสี่ยงในการก่อมะเร็งตับได้สูงเช่นกัน
คนที่เป็นมะเร็งตับในระยะเริ่มแรกมักจะไม่ค่อยมีอาการใด ส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการต่อเมื่อโรคอยู่ในระยะลุกลาม จึงมีอาการหลักๆ ของโรคเกี่ยวกับตับ เช่น ปวดท้องบริเวณช่องท้องส่วนบน ท้องอืด เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ผอมลง ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้ม นอกจากนี้อาจจะคลำก้อนได้ที่ท้อง อึดอัดแน่นท้อง หายใจลำบาก ฯลฯ อย่างไรก็ตามหากมีอาการผิดสังเกตควรพบแพทย์ด้านระบบทางเดินอาหารเพื่อตรวจอย่างละเอียด โดยจะมีกระบวนการวินิจฉัยมะเร็งตับอย่างเป็นขั้นตอน
หากพบว่าเป็นมะเร็งตับจริงปัจจุบันวิทยาการในการรักษามะเร็งตับก้าวหน้าไปไม่น้อย โดยมีหลายวิธีตามความเหมาะสมกับภาวะมะเร็งตับของแต่ละคนโดยแพทย์จะพิจารณาร่วมกันเป็นทีม เช่น การผ่าตัด การฉายรังสี การฉายรังสีระบบใหม่ (Gamma Knife, Cyber knife, etc.) การให้เคมีบำบัด (Chemotherapy) การให้เคมีบำบัดผ่านทางสายสวนหลอดเลือดแดงร่วมกับการอุดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็ง (TOCE or Transarterial Oily Chemo Embolization) การฉีดแอลกอฮอล์เข้าก้อนมะเร็งโดยตรง และเทคนิคใหม่ที่กำลังเป็นที่สนใจของแพทย์ทั่วโลกคือ การทำลายก้อนมะเร็งด้วยความร้อน (Thermal Ablation) ซึ่งมีหลายเทคโนโลยี เช่น การใช้เลเซอร์ การใช้ไมโครเวฟ การใช้คลื่น RFA แต่เทคโนโลยีที่นิยมกันมากที่สุดในปัจจุบันคือ การใช้ RFA (Radiofrequency) นี่เอง
RFA ย่อมาจาก Radiofrequency Ablation เป็นวิธีการทำลายก้อนมะเร็งด้วยการใช้เข็มแบบพิเศษ (RF needle) ขนาดเท่ากับไส้ปากกาลูกลื่น ความยาวประมาณ 15 เซนติเมตร แทงผ่านผิวหนังเข้าไปในก้อนมะเร็งเป้าหมาย โดยใช้เครื่องอัลตราซาวด์หรือเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่วยนำทาง ต่อวงจรเข้ากับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า(generator) และตัวผู้ป่วยเป็นส่วนหนึ่งของวงจรด้วยการแปะแผ่นสายดิน (ground pad) ที่หน้าขาของผู้ป่วย (รูปที่ 1) เมื่อปล่อยไฟฟ้ากระแสสลับจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า(generator) ขนาด 50-200 วัตต์ ผ่านเข้าไปในเข็ม ซึ่งส่วนปลายเข็มเป็นขั้วไฟฟ้า (Electrode) และใช้การเหนี่ยวนำไฟฟ้าจากเครื่อง ทำให้เกิดคลื่นความถี่สูงประมาณ 375-500 KHz จะทำให้โมเลกุลของเนื้อเยื่อรอบๆ เข็มสั่นสะเทือนและเสียดสีกันจนเกิดความร้อน (Friction heat) ซึ่งจะแผ่กระจายออกไปรอบๆ จนครอบคลุมก้อนมะเร็งทั้งก้อน จากการศึกษาพบว่าความร้อนที่มากกว่า 50 องศาเซลเซียสสามารถทำให้เซลล์ตายได้ ก้อนมะเร็งที่ได้รับการรักษาจะเปรียบเสมือนเนื้อย่าง ซึ่งในต่างประเทศใช้วิธีการรักษามะเร็งตับ RFA นี้กันมานานประมาณ 12 ปีแล้ว ส่วนในประเทศไทยเริ่มใช้กันมา ประมาณ 3-4 ปี ที่ผ่านมานี้เอง
อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยวิธีนี้เหมาะกับโรคมะเร็งตับปฐมภูมิ (Hepatocellular carcinoma) และ มะเร็งทุติยภูมิ ที่กระจายจากมะเร็งลำไส้ใหญ่มาที่ตับ (Colonic Metastasis) รวมถึงมะเร็งที่แพร่กระจายจากมะเร็งที่อื่น เช่น มะเร็งเต้านม เป็นต้น แต่สำหรับกรณีนี้มีผลการวิจัยน้อยจึงยังสรุปผลการรักษาไม่ได้เต็มที่นัก นอกจากนี้ RFA ยังใช้ในการรักษามะเร็งปอด มะเร็งไตได้ด้วย แต่ยังมีข้อจำกัดหลายอย่างในการรักษา สำหรับการรักษามะเร็งตับเองก็มีข้อจำกัดบางประการเช่นกันเกี่ยวกับจำนวน ขนาด และตำแหน่งของก้อนมะเร็ง คือจำนวนไม่เกิน 3 ขนาดไม่เกิน 5 เซนติเมตร ตำแหน่งต้องไม่อยู่ในที่ที่จะเกิดอันตรายจากความร้อนสู่อวัยวะใกล้เคียง
ดังนั้นใช่ว่าทุกคนที่เป็นมะเร็งตับจะสามารถรักษาได้ด้วยวิธีนี้แต่ต้องผ่านการพิจารณาของหมอศัลยกรรมก่อน ว่าไม่สามารถผ่าตัดได้ด้วยเหตุผลหลายอย่าง เช่น มีโรคตับแข็ง ขั้นที่ว่าถ้าได้รับการผ่าตัดแล้ว ตับที่เหลืออยู่จะไม่สามารถทำงานได้ ผู้ที่เคยได้รับการผ่าตัดเอาตับกลีบหนึ่งออกไปแล้วเหลือตับเพียงกลีบเดียว (ตับมี 2 กลีบใหญ่คือกลีบซ้ายและกลีบขวา) แล้วมีก้อนขึ้นมาที่กลีบที่เหลือ ผู้ที่มีโรคหัวใจ โรคไต หรือโรคปอด ที่มีภาวะเสี่ยงต่อการดมยาขณะผ่าตัดหรือเสี่ยงต่อการฟื้นตัวหลังผ่าตัด
จากนั้นหมอก็จะพิจารณาความเป็นไปได้ในการทำ RFA ว่าขนาดก้อน เท่าไหร่ ตำแหน่งอยู่ตรงไหนจากภาพอัลตราซาวด์และภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ จะทำโดยใช้เทคนิคใด ผลการรักษาน่าจะเป็นอย่างไร ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการทำ RFA ที่จะเป็นไปได้และอธิบายให้ผู้ป่วยและญาติฟังให้เข้าใจก่อนทำการรักษา
ก่อนการรักษาด้วยวิธีนี้จำเป็นต้องเช็คเลือดก่อนว่าผู้เป็นมะเร็งนั้นมีภาวะการแข็งตัวของเลือดเป็นปกติหรือไม่ ถ้าผิดปกติต้องแก้ไขก่อน เพราะการรักษาจะใช้อัลตราซาวด์เป็นเครื่องมือนำทาง ผู้ป่วยจะได้รับยาชาเฉพาะที่ ไม่ดมยาสลบ โดยมีทีมวิสัญญีเป็นผู้ดูแล ระยะเวลาการทำขึ้นกับว่าการวางเข็มกี่ตำแหน่ง ทำการย่างกี่ชุด โดยเฉลี่ยการวางเข็ม 1 ตำแหน่ง รวมการย่าง 1 ชุด ใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที หลังขั้นตอนในห้องผ่าตัดทีมวิสัญญี และทีมห้องผ่าตัดจะสังเกตอาการอีกประมาณ 1-2 ชั่วโมงก่อนส่งผู้ได้รับการรักษากลับห้องพัก หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ส่วนใหญ่สามารถกลับบ้านได้ ในวันต่อมา
การรักษาด้วยวิธี RFA นี้ไม่ได้เป็นการเอาก้อนมะเร็งออก แต่ก้อนจะมีขนาดเล็กลง และหากติดตามดูภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือเอกซเรย์เอ็มอาร์ไอ ตัวก้อนจะแสดงให้เห็นปฏิกิริยาว่าก้อนไม่มีเซลล์มะเร็งที่มีชีวิตอยู่แล้ว ดังนั้นการติดตามผลการรักษาด้วยการเอกซเรย์ตามระยะที่แพทย์สั่ง มีความสำคัญมาก เพราะหากพบว่ามีก้อนขึ้นมาในตำแหน่งที่สามารถทำการรักษาได้อีก ก็จะได้รักษาได้ทันแต่เนิ่นๆ
ส่วนผลการรักษานั้นมีผลการวิจัยทั่วโลกพอสรุปว่าวิธีการรักษาด้วย RFA นี้ได้ผลดีในผู้ที่มีก้อนมะเร็งขนาดเล็ก จะทำให้มีอัตราการมีชีวิตอยู่รอดยาวถึง 3-5 ปี ได้มากกว่าผู้ที่มีก้อนขนาดใหญ่ แม้ว่าในต่างประเทศจะใช้มา 10-12 ปีก็จริง แต่ละการศึกษามีกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็กที่มีผู้เสียชีวิตจากภาวะตับแข็ง หรือโรคมะเร็งลำไส้ที่แพร่กระจายไปที่อื่น จึงทำให้การศึกษาแต่ละฉบับไม่สามารถสรุปผลกรรักษาได้ชัดเจนนัก แต่โดยทั่วไปถ้าก้อนขนาดเล็กกว่า 3.5 เซนติเมตร อัตราการอยู่รอด 1 ปี มีถึง 99% 2 ปี 92-96% และ 3 ปี ประมาณ 86-88%
ปัจจุบันในประเทศไทยสามารถรับการรักษาด้วยวิธีนี้ได้ที่หลายสถาบัน เช่น โรงเรียนแพทย์ต่างๆ โรงพยาบาลหลักของรัฐบาล สถาบันมะเร็ง โรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง แพทย์ที่ทำการรักษา ส่วนใหญ่เป็นรังสีแพทย์ สาขารังสีร่วมรักษา (Intervention Radiologist) หรือศัลยแพทย์ทางเดินอาหารและตับ และแพทย์มะเร็งวิทยาบางท่านก็สามารถทำได้ หากแพทย์ผู้นั้นสามารถใช้อัลตราซาวด์ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ในการนำทางให้เห็นเข็มเข้าสู่เป้าหมายได้อย่างแม่นยำ
อย่างไรก็ตามการรักษาโรคมะเร็งตับนั้นการผ่าตัดยังคงเป็นการรักษาที่ดีที่สุด การรักษาด้วย RFA หรือวิธีอื่นของรังสีร่วมรักษา เป็นการรักษาอีกทางเลือกหนึ่งเท่านั้น และมีข้อจำกัดหลายอย่าง ตั้งแต่ลักษณะของก้อน ซึ่งจำเพาะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ผู้ทำต้องมีประสบการณ์ที่ดี ผู้ช่วยต้องเป็นทีมงานที่ฝึกพิเศษ เครื่องมือนำทางต้องเป็นเครื่องมือที่ดีเห็นภาพชัดเจน การติดตามผลการรักษาด้วยเครื่องเอกซเรย์ที่ดีจะบอกได้ว่ามีก้อนเหลืออยู่หรือมีก้อนใหม่หรือไม่
การตรวจเช็คสุขภาพประจำปี ไม่เพียงแต่ตรวจเช็คเลือดเท่านั้น การทำอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน (ตับ ถุงน้ำดี ท่อน้ำดี ตับอ่อน ม้าม ไต) จะเป็นเครื่องมือที่คุ้มค่าที่จะใช้ตรวจพบมะเร็งระยะแรกของตับ เพราะราคาการตรวจไม่แพงมากนัก เมื่อพบก้อนขนาดเล็กก็จะให้ผลการรักษาที่ดี
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม เปิดดูได้ในเวปไซต์ของ สมาคมรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาได้ที่ www.thaivir.org
แพทย์รังสีรักษาต่างจากแพทย์รังสีร่วมรักษาอย่างไร
แพทย์รังสีรักษาคือแพทย์ที่สั่งให้ผู้ป่วยรับการฉายรังสี เพื่อรักษามะเร็งและเป็นผู้ติดตามตรวจเช็คผลที่เกิดจากการใช้รังสีมารักษาผู้ป่วย แต่แพทย์รังสีร่วมรักษา คือรังสีแพทย์ที่จบรังสีวินิจฉัย สามารถแปลผลฟิล์มเอกซเรย์ว่ามีพยาธิสภาพตรงส่วนใด และทำงานด้านรังสีร่วมรักษาโดยใช้เครื่องเอกซเรย์เป็นตัวนำทางเพื่อทำหัตถการต่างๆ กับผู้ป่วย โดยสรุปรังสีร่วมรักษาก็คือแพทย์ที่อ่านฟิล์มแต่ทำงานเพิ่มในส่วนของการร่วมรักษากับแพทย์สาขาอื่นๆ ด้วย
|