หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
เมื่อมะเร็งลำไส้ใหญ่ เดินเข้ามาใกล้ตัวคุณ
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


มะเร็งลำไส้ใหญ่  นับวันยิ่งใกล้ตัว

นพ. ชุมศักดิ์  พฤกษาพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่าชาวอเมริกันเสียชีวิตจากโรคนี้ปีละ 60,000 คน และอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ ได้เพิ่มจาก 1 ต่อ 25 เมื่อ 30 ปีก่อน มาเป็น 1 ต่อ 20 ในปัจจุบัน วงการแพทย์จึงพยายามพัฒนาหาวิธีสำรวจหาปัจจัยเสี่ยง ที่ทำให้คนเป็นมะเร็งชนิดนี้ ลอดจนหาวิธีตรวจวินิจฉัยโรคให้พบตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม เพื่อจะได้รักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนปัจจัยที่ทำให้มีความเสี่ยงต่อมะเร็งชนิดนี้ คือ 

 
•
อายุ คนที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนใหญ่คือราว 90% จะมีอายุเกิน 50 ปี
 
•
เพศ  เผ่าพันธุ์ ในชาวอเมริกันนั้น ผู้ชายจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ มากกว่าผู้หญิง คนผิวดำจะมีความเสี่ยงมากกว่าคนผิวขาว แต่คนผิวดำในทวีปอัฟริกา กลับมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ต่ำมาก ดังนั้นความเสี่ยงเชิงเผ่าพันธุ์ จึงขึ้นกับว่าอยู่ในประเทศอุตสาหกรรมหรือเปล่า
 
•
อาหาร อาหารที่อุดมด้วยไขมันและแคลอรี ซึ่งมีเส้นใยอาหารน้อย จะมีความเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ใหญ่สูง
 
•
เนื้องอกโพลิป ถ้ามีเนื้องอกโพลิปอยู่ด้วยก็จะมีความเสี่ยงสูงขึ้น
 
•
ประวัติครอบครัว คนที่มีญาติสนิทที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ก็จะมีปัจจัยเสี่ยงสูงขึ้น เช่น ถ้ามีน้องเป็นมะเร็งลำไส้ตรงคนหนึ่งแล้ว คนที่เหลือก็จะมีโอกาสเป็นมะเร็งแบบเดียวกัน ได้ราว 10-15 เปอร์เซ็นต์
 
•
การออกกำลังกาย ผู้ที่มีกิจกรรมที่ใช้กำลังกายปานกลางจะมีความเสี่ยง ต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่น้อยลง
 
•
แอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ คนที่บริโภคทั้งสองอย่างนี้รวมกันจะมีความเสี่ยงสูงขึ้น
 
•
โรคของลำไส้ บางอย่างทำให้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

นพ.ชุมศักดิ์ อธิบายว่า การวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ใหญ่นี้ ถ้าสามารถรู้รายละเอียดเกี่ยวกับตำแหน่ง ขนาด ชนิดของเซลล์มะเร็ง ระยะของโรคที่เป็นอยู่ จะช่วยบอกการพยากรณ์ของโรคได้ดีมาก ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามะเร็งก้อนที่เป็นอยู่นั้น ยังไม่ลุกลามออกนอกโพรงลำไส้ใหญ่ ยังไม่กระจายสู่ต่อมน้ำเหลืองแล้ว โอกาสที่จะผ่าตัดรักษาจนหายก็มี และที่สำคัญคืออัตราการรอดชีวิตเกิน 5 ปี (5 year survival rate) ซึ่งเป็นอัตราที่เขาใช้กันเวลากล่าวถึงมะเร็ง  จะสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้ามะเร็งลามไปถึงต่อมน้ำเหลืองแล้ว อัตรารอดชีวิตที่ 5 ปี จะลดเหลือ 65 เปอร์เซ็นต์ หรือต่ำกว่านั้น

กินอยู่อย่างไร ห่างไกลมะเร็ง

 
1.
พยายามรักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยการออกกำลังกายเป็นประจำ
 
2.
อย่ากินอาหารดิบหรือสุกๆ ดิบๆ (โดยเฉพาะปลาน้ำจืดดิบ) หรืออาหารที่มีเชื้อรา (เช่น ถั่วลิสงบด พริกแห้ง หัวหอม กระเทียมที่ขึ้นรา)
 
3.
พยายามหลีกเลี่ยงอาหารโปรตีนหมัก เช่น ปลาร้า ปลาส้ม หมูส้ม แหนม หรือ เนื้อสัตว์ ที่หมักโดยผสมดินประสิว (เช่น เนื้อเค็ม กุนเชียง ไส้กรอก แฮม) ถ้าจะกินควรทำให้สุกเพื่อทำลายสารไนโตรซามีนเสียก่อน
 
4.
พยายามอย่ากินอาหาร หรือขนมที่ใส่สีย้อมผ้า (ซึ่งทำให้ดูสีสดใสน่ากิน) หรืออาหารที่มียาฆ่าแมลงเจือปน โดยเฉพาะ ดีดีที หรือยาที่เข้าสารหนู
 
5.
ลดอาหารที่มีไขมัน เช่น มันสัตว์  ของทอด ของผัดน้ำมัน  อาหารใส่กะทิ  และจำกัดการกินน้ำตาล และของหวาน และทางที่ดีควรกินอาหารที่ให้โปรตีน  จากถั่วเหลือง และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้
 
6.
กินผัก เช่น ผักใบเขียว ผักกะกล่ำ ดอกกะหล่ำ ผักคะน้า  ผลไม้  เช่น ฝรั่ง แอปเปิล มะละกอ องุ่น ฟักทอง มะเขือเทศ ส้ม  เมล็ดธัญพืช เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโพด ข้าวฟ่าง งา ลูกเดือย ถั่วต่างๆ  หัวพืชต่างๆ เช่น เผือก มัน แครอต หัวไช้เท้า และพวกกล้วย อาหารเหล่านี้จะมีสารที่ช่วยป้องกันมะเร็ง เช่น กากใย  สารฟีนอล สารฟลาโวน สารแคโรทีน เป็นต้น
 
7.
ลดการกินอาหารรมควัน ย่าง หรือทอดจนเกรียม เพราะมีสารก่อมะเร็ง
 
8.
จำกัดการกินเกลือและอาหารเค็ม ผู้ใหญ่กินเกลือวันละไม่เกิน 6 กรัม (7.5 มิลลิลิตร หรือหนึ่งช้อนชาครึ่ง) ส่วนเด็กวันละไม่เกิน 3 กรัมต่อ 1,000 กิโลแคลอรี

นอกจากการกินอาหารที่มีเส้นใยเยอะๆ อย่างผักผลไม้แล้ว สำหรับผู้อ่านที่มีอายุเกิน 50 ปี ควรตรวจร่างกายประจำปีด้วยนะคะ

สำหรับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่อยากสอบถาม เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวอย่างละเอียด หรือผู้ป่วยมะเร็งชนิดใดก็ตาม ถ้าอยากมีเพื่อนที่เจ็บป่วยแบบเดียวกัน เพื่อพูดคุยปรึกษา  ชาวชมรมชีวจิต โดยคุณวิจารณ์- คุณสิริแก้ว  ยิ่งยืนยง  แกนนำรำกระบอง ณ สวนรถไฟจตุจักร บอกผ่านกับเรามาว่า สามารถไปพูดคุยกันได้ที่นี่ทุกวันอาทิตย์  ตั้งแต่เวลา 6.30 น. หรือโทร. สอบถามได้ที่ 0-1498-3707 (สามารถนำกระบองไปออกกำลังกายได้เลย  อย่าลืมผ้าปูรองนั่ง  และอาหารว่างไปรับประทานด้วยนะคะ)

อาการที่พึงระวัง อาจเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่

ถ่ายอุจจาระมีเลือดปน อุปนิสัยการขับถ่ายเปลี่ยนไป เช่น เคยถ่ายอุจจาระทุกวัน ก็เปลี่ยนไปมีอาการท้องผูก อุจจาระมีขนาดเล็กลง ปวดมวนท้อง ปวดถ่ายอุจจาระบ่อยๆ อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน โลหิตจาง เนื่องจากขาดธาตุเหล็ก และน้ำหนักลดโดยไม่ ทราบเหตุ



นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 170

 
       
    แหล่งข้อมูล : www.cheewajit.com  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
มะเร็ง...ตัวร้าย
 
การตรวจหามะเร็งในระยะเริ่มแรก
 
มะเร็งลำไส้ใหญ่
 
ความรู้เบื้องต้น...มะเร็งลำไส้ใหญ่
 
กินเป็น อยู่เป็น ไม่เป็นมะเร็ง
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.