ตลาดริมคลองระแหง |
---|
คุณเอนก นาวิกมูล เจ้าสำนักบ้านพิพิธภัณฑ์ เคยเขียนหนังสืออธิบายไว้ว่า เหตุที่ตำบลระแหง ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นไร่นาของราษฎร เกิดเจริญมีตลาดคึกคักในสมัยก่อน ก็เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่ปลายทางสุด ของทางรถไฟสายกรุงเทพฯ บางบัวทอง ลาดหลุมแก้ว อันเป็นทางรถไฟเอกชน สร้างโดยเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว. เย็น อิศรเสนา) ทางรถไฟนี้ตั้งต้นตั้งแต่วัดลิงขบ บ้านเตาปูน ผ่านเมืองนนทบุรีแถบวัดเฉลิมพระเกียรติ ตัดทุ่งบางบัวทองไปถึงระแหง แล้วก็หมดลงเพียงแค่นั้น ทั้งๆ เดิมที มีโครงการจะสร้างยาวไปถึงตำบลเจ้าเจ็ด อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยาโน่นทีเดียว เริ่มสร้างทางรถไฟเมื่อ พ.ศ. 2452 อีกหกปีต่อมา คือ พ.ศ. 2458 ก็ให้บริการเดินรถได้ ว่ากันว่ามีคนแห่มาใช้บริการมาก แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบันนี้ ไม่มีใครทราบแม้แต่ว่า เลิกเดินรถไปตั้งแต่เมื่อใด สถานีอยู่ ณ ที่ใด และเหตุใดจึงได้เลิกราไป ตลาดริมคลองระแหงในปัจจุบันนี้ ก็เหมือนตลาดเก่าแก่ อีกหลายสิบหลายร้อยแห่งในชนบทไทยเวลานี้นั่นแหละครับ ที่เป็นตลาดห้องแถวไม้สองชั้น เรียงรายไปตามริมคลอง อันเป็นเส้นทางคมนาคมหลักในสมัย ไม่ต่ำกว่าครึ่งศตวรรษก่อน โชว์ผิวเนื้อไม้สีน้ำตาลเก่าคร่ำคร่า ที่ผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน โดยมิได้ฉาบทาสีสันใดทับลงไป สามารถจอดรถในวัดบัวแก้วเกสร ริมถนนฝั่งตรงข้ามกับตัวตลาด แล้วค่อยๆ เดินเลาะข้างตึกแถวริมทางหลวง ลอดใต้สะพาน อ้อมไปเข้าตัวตลาด ซึ่งตอนต้นๆ ก็เป็นแผงผัก แผงเนื้ออย่าง กับตลาดสดทั่วไป ถัดเข้าไปจึงเริ่มเป็นร้านขายของใช้ครัวเรือนเก่าๆ พวกเตาไฟ รังผึ้ง เคียวเกี่ยวข้าว ผ้าขาวม้าโสร่ง ไม้กวาดอ่อน ไปจนถึง ขนมขบเคี้ยว และลูกอมนานาชนิด ร้านขายเสื้อผ้า เป็นแบบเดียวกับที่เคยซื้อเมื่อตอนเด็กๆ กว่าสามสิบปีที่แล้ว ที่ตลาดอำเภอเมืองราชบุรี น้ำในคลองระแหงยังค่อนข้างใสสะอาด ยังมีเด็กน้อยลงเล่นน้ำอยู่เลย ฝั่งตรงข้ามมองไป เห็นมีร้านขายเครื่องจักสาน เครื่องมือหาปลา ร้านขายยาแผนโบราณ แผนปัจจุบัน และร้านตัดผม เฉพาะร้านยานั้น คุณเอนก นาวิกมูลเล่าว่า เป็นของคุณโอฬาร ชีวะพฤกษ์ ซึ่งเป็นนักสะสมตัวยงคนหนึ่ง ในร้านจึงมีทั้งกระป๋องลูกอมเก่า สีสวยสดหลากหลายยี่ห้อ ที่ใช้เก็บตัวยาสมุนไพร แล้วก็มีของเก่าอื่นๆ อีกมาก ตรงมุมสุดของห้องแถว มีศาลเจ้าเล็กๆ อยู่หลังหนึ่ง จุดนั้นมีสะพานทอด ให้คนทั้งสองฝั่งคลองเดินข้ามไปมา เชิงสะพานฝั่งตรงข้ามศาลเจ้านี่แหละ ที่ได้พบกับของดีเข้า คือ ร้านอาหารแบบโบราณ แบบเดียวกับที่เคยกินตอนเด็กๆ ร้านนี้ชื่อ แปโภชนา ซึ่งมีอยู่ร้านเดียวเท่านั้น ขายกับข้าวตามสั่ง เป็นอาหารไทยปนไปกับอาหารจีน ประเภทผัดผัก ผัดเผ็ด ต้มยำ แกงจืด และยำสารพัดอย่าง รสชาติกลางๆ ไม่เผ็ดโหดอย่างฝีมือคนไทยทำ เรียกว่าเหมาะสำหรับคนกินอาหาร ที่ดูสะอาดสะอ้าน รสจัด แต่ไม่เผ็ด ที่ชอบมาก มีอยู่สามสี่อย่าง คือ หมูทรงเครื่อง คล้ายหอยจ๊อ แต่เดาว่าเขาต้องเอาไปทอดสดๆ เลย ไม่นึ่งก่อนย่าง ตามแบบวิธีทำหอยจ๊อ มีส่วนผสมของพริกหอม (ชวงเจีย) ป่นมากจนรู้สึกว่าหอมน่ากินจริงๆ ทอดมาอย่างดี กรอบนอก นุ่มใน กินกับน้ำจิ้มบ๊วยเจี่ยหวานๆ เปรี้ยวๆ เค็มๆ สามรส เรียกน้ำย่อยได้อร่อยเด็ด ผัดพริกแกงเนื้อปลากราย เป็นสไตล์แบบคนจีนผัด คือเห็นน้ำมันพริกลอยแดงๆ คลุกข้าวร้อนๆ ได้อร่อย ไม่เผ็ดจนเกินไป เนื้อปลาก็สด และนวดจนเหนียวหนึบได้ที่ เคี้ยวเพลินเหงือกดีจริงๆ ต้มยำปลาช่อน ชามนี้ทำได้ใกล้เคียง แบบร้านคนไทยทำ คือน้ำใสแจ๋ว แต่รสจัดมาก มีพริกขี้หนูแห้งทอด บุบโรยหน้ามาด้วย ครบเครื่องจริงๆ ซดร้อนๆ โล่งคอชะมัด ผัดไทยก็เด็ดดี ออกมันๆ เขาผัดปรุงรสมากลางๆ เลยลองเติมพริกป่น มะนาว น้ำปลาให้เข้มขึ้นอีก แล้วกินกับข้าวสวยร้อนๆ แบบที่คุณชายถนัดศรี สวัสดิวัตน์ท่านเคยแนะไว้ ในข้อเขียนของท่าน ก็อร่อยเยี่ยมทีเดียว ผนังร้านติดไว้ด้วยภาพถ่ายขาวดำเก่าคร่ำคร่า อายุหลายสิบปีมาแล้ว เป็นเรื่องราวเหตุการณ์ และกิจกรรมที่เกิดขึ้นในตำบลระแหง เช่นว่าการขุดคลอง ตัดถนน งานฉลองในช่วงเทศกาล ผู้คนและบ้านเรือนแบบเก่าๆ ดูแล้วก็รู้สึกเหมือนได้ย้อนยุคกลับไปในเวลานั้น ร้านแปโภชนา จึงเป็นเสน่ห์ของตลาดระแหงอย่างแท้จริง แต่ว่าใครจะอยากกินต้องรีบมาสักนิด เพราะว่าพอตกบ่ายคล้อยเข้าหน่อย สักสามสี่โมงเย็น เขาก็ตั้งท่าจะปิดเสียแล้วล่ะ สำหรับคนกรุงเทพฯ และปริมณฑลรอบๆ ทางด้านทิศเหนือ แถบปทุมธานี ตลาดระแหงจึงเป็นสถานที่ ที่อาจแวะกินมื้อกลางวันอร่อยๆ ก่อนจะเดินทางต่อ หรือเป็นที่เดินเล่นช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ของครอบครัวเล็กๆ ได้อย่างดี สำหรับใครที่ยังไม่เคยเที่ยวตลาดเก่า ตลาดเล็กๆ อย่างระแหง น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ก่อนจะขยับขยายไปยังตลาดที่ใหญ่กว่านี้ ไกลกว่านี้ สวยกว่านี้ อย่างตลาดริมแม่น้ำสายใหญ่ๆ แถบอยุธยา สุพรรณบุรี อ่างทอง หรือสิงห์บุรี รวมทั้งอาจขยับขยายความสนใจ ไปยังบ้านเล็กเมืองน้อย อาคารย่านเก่า ตลอดจนชุมชนโบราณ ที่มีวัฒนธรรมประเพณี แตกต่างไปจากเรา หากทว่าร่วมสมัยอยู่กับเรา ณ ช่วงเวลาปัจจุบันเดียวกันนี้ด้วย
soma_sakandha |
|||||||||||||||||||||
แหล่งข้อมูล : www.muangboranjournal.com | |||||||||||||||||||||
|
|||||||||||||||||||||
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved. |