หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
กระดูกพรุนที่ผู้หญิงต้องระวัง
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


ในร่างกายของคนเรามีกระดูกเป็นส่วนประกอบสำคัญ แต่ละคนจะมีกระดูกจำนวน 206 ชิ้น แต่ละชิ้นจะแบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือ กระดูกชั้นนอกที่แข็งแกร่ง คอยทำหน้าที่เป็นโครงสร้างของร่างกาย และห่อหุ้มอวัยวะที่สำคัญ เช่น สมอง ปอด ตับ ไต หัวใจ ขณะที่ไขกระดูก ซึ่งอยู่ชั้นในจะทำหน้าที่สร้างเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือด

วงจรกระดูก

กระดูกประกอบด้วยแร่ธาตุสำคัญคือแคลเซียม ซึ่งได้รับจากอาหารที่รับประทานในชีวิตประจำวัน เนื่องจากโดยธรรมชาติแล้ว กระดูกของเรานั้นจะมีการสลายตัวและสร้างใหม่อยู่ตลอดเวลา อย่างที่เราเรียกว่า วงจรกระดูก ในวัยเด็กและวัยรุ่น เป็นช่วงอายุที่ร่างกายสร้างกระดูกใหม่มากกว่าการสลายกระดูก กระดูกจึงมีขนาดใหญ่ขึ้น หนาและหนักขึ้น จนกระทั่งถึงปริมาณสูงสุด ที่ระดับอายุเฉลี่ยประมาณ 20-25 ปี ระหว่างอายุ 25-30 ปี จะเป็นช่วงอายุที่มวลกระดูกคงความหนาแน่นสูงที่สุด โดยมีอัตราการสร้างกระดูกและสลายกระดูกสมดุลกัน หลังจากนั้นอัตราเร็วในการสร้างกระดูกจะค่อยๆ ลดลง ขณะที่การสลายกระดูกยังคงดำเนินอยู่ เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ กระดูกจะสลายตัวเร็วกว่าการสร้างใหม่ จึงเป็นผลให้ผู้สูงอายุมักมีมวลกระดูกน้อยลง กระดูกเล็กและบางลง มีความแข็งแกร่งลดลง เปราะ แตกหักง่าย หรืออย่างที่เราเรียกว่าภาวะกระดูกบาง หรือกระดูกพรุนนั่นเอง ซึ่งมีผลต่อคุณภาพชีวิต และการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ดังนั้นถ้าคนไหนมีต้นทุนเดิมของกระดูกมาก และสามารถรักษาไว้ได้สม่ำเสมอ แม้จะต้องมีการสลายไป ก็จะยังคงความแข็งแรงอยู่ได้พอสมควร

นอกจากอายุที่เพิ่มขึ้น จะเป็นปัจจัยต่อการสลายตัวของกระดูกแล้ว คนหนุ่มสาวที่ใช้ชีวิตเร่งรีบ อยู่กับความเครียดเป็นประจำ ขาดการออกกำลังกาย ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หรือแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ รับประทานอาหารที่ด้อยคุณภาพ มีแคลเซียมน้อย แต่มีโปรตีนมากๆ คนที่มีรูปร่างผอมบางมากๆ หรือคนที่เป็นโรคไต คอพอก คนที่ต้องใช้ยาสเตียรอยด์ ล้วนเป็นปัจจัยให้มวลกระดูกสลายตัวมากกว่าปกติ หากต้นทุนที่สะสมไว้ไม่เพียงพอ ก็จะเสี่ยงต่อภาวะกระดูกบาง พรุน ง่ายขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงที่มักมีการสะสมเนื้อกระดูกเอาไว้น้อยกว่าผู้ชาย อีกทั้งยังมีเรื่องของการลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนอย่างรวดเร็ว ในวัยหมดประจำเดือนดังที่ได้กล่าวมาแล้ว จึงทำให้ผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อกระดูกบาง พรุน มากเป็นพิเศษ

อาการของกระดูกพรุน

คนที่เป็นกระดูกพรุนอาจไม่มีอาการอะไรแสดงออกมาเป็นพิเศษเหมือนอย่างเช่นโรคอื่นๆ เว้นแต่ว่ากระดูกจะหักง่ายเป็นพิเศษ บริเวณที่เสี่ยงต่อการหักได้แก่ กระดูกข้อมือ ข้อเท้า กระดูกสันหลัง และกระดูกสะโพก

การที่กระดูกข้อมือข้อเท้าหัก แม้ทำให้เจ็บปวดและไม่สะดวกในการใช้งาน แต่ก็ยังไม่ถึงกับเป็นอันตรายร้ายแรงมาก แต่หากเกิดกระดูกสันหลังหัก มักจะเป็นลักษณะที่กระดูกยุบตัวลง ก็จะทำให้ตัวเตี้ยลง หลังโก่งงองุ้ม และปวดหลังรุนแรง โดยเฉพาะหากเป็นกระดูกสะโพกหักยิ่งมีอันตรายมากที่สุด เพราะอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนจนถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งโอกาสการเกิดกระดูกหักมีอยู่ตลอดเวลา เพียงแค่เดินกระแทกกับอะไร เดินสะดุด ยกของหนักเกินกำลัง หรือแค่เดินชนกับคนอื่น ก็อาจทำให้กระดูกหักได้แล้ว

รู้ได้อย่างไรว่ากระดูกพรุนแล้วหรือยัง

ปัจจุบันการตรวจค่าความหนาแน่นของกระดูก ด้วยเครื่องมือ Dual Energy X-ray Absorptiometry (DXA) เป็นวิธีมาตรฐานที่แพทย์ใช้ในการวินิจฉัยว่า เราเป็นกระดูกพรุนแล้วหรือยัง ส่วนการตรวจความหนาแน่นของกระดูกด้วยเครื่องมืออื่นๆ ที่อาจมีให้บริการทั่วไปตามร้านยา ห้างสรรพสินค้า หรือนิทรรศการสุขภาพต่างๆ เป็นการวัดค่าเพียงเบื้องต้นเท่านั้น ยังไม่สามารถใช้เป็นมาตรฐานได้ หากคุณไปใช้บริการตรวจความหนาแน่นของกระดูกด้วยเครื่องมือเหล่านั้น แล้วได้ผลที่ผิดปกติ จึงแนะนำให้ควรไปรับการตรวจอย่างละเอียดจากเครื่องมือมาตรฐาน โดยแพทย์อีกครั้งเพื่อผลที่แน่นอน ถ้าผลวินิจฉัยออกมาว่า คุณมีปัญหากระดูกบางหรือพรุน แพทย์อาจให้คำแนะนำเพิ่มเติม ในเรื่องการรับประทานยาหรือฮอร์โมนทดแทน อาจต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตโดยลด ละ เลิก พฤติกรรมที่จะทำให้เกิดการสูญเสียเนื้อกระดูก การได้รับแคลเซียมเสริม หรือวิธีปฏิบัติตัวที่จะอยู่กับโรคกระดูกพรุนอย่างปลอดภัยจากอุบัติเหตุ เช่น การปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมภายในบ้านหรือที่ทำงานที่เหมาะสม

เสริมมวลกระดูกด้วยอาหารแคลเซียมสูง ป้องกันกระดูกพรุน

แม้จะยังไม่มียาอะไรใช้ป้องกันการเกิดกระดูกพรุนได้ แต่ทุกคนสามารถชะลอการเกิดกระดูกพรุนให้ช้าลง โดยการรักษามวลกระดูกให้คงความหนาแน่นไว้ได้นานที่สุด การรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงเป็นสิ่งจำเป็น ให้ร่างกายได้ดูดซึมแคลเซียมไปสะสมไว้เป็นต้นทุนของกระดูก ถ้าเราได้รับแคลเซียมปริมาณมากๆ ในช่วงกระดูกกำลังเจริญเติบโต ก็จะเพิ่มปริมาณเนื้อกระดูกให้อยู่ในระดับสูงสุดได้ ขณะเดียวกันร่างกายก็ต้องใช้แคลเซียมสำหรับหน้าที่อื่นๆ ซึ่งถ้าได้รับจากอาหารไม่เพียงพอ ร่างกายก็จะดึงแคลเซียมจากกระดูก ไปใช้แทนทำให้กระดูกแข็งแรงน้อยลง เราจะได้แคลเซียมจากอาหารจำพวกปลาตัวเล็กตัวน้อย ที่รับประทานได้พร้อมกระดูก กุ้งที่รับประทานได้พร้อมเปลือก เช่น กุ้งแห้ง ผักใบเขียว เช่น คะน้า บรอกโคลี งาดำ ถั่ว เต้าหู้และผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นม และผลิตภัณฑ์นม เป็นต้น ร่วมกับการออกกำลังกายสม่ำเสมอ เช่น เดินเร็วๆ วันละ 20 นาที หรือว่ายน้ำเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายมีการสร้างกระดูกเพิ่มขึ้น ซึ่งควรทำในตอนเช้าๆ เพื่อได้รับแสงแดดอ่อนๆ ช่วยให้ร่างกายสร้างวิตามินดี ซึ่งเป็นตัวช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมจากลำไส้ไปสะสมที่กระดูกเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังสามารถได้รับวิตามินดีในอาหารจำพวก น้ำมันปลา ไข่แดง ตับ เป็นต้น

ในกรณีที่จำเป็นหรือพบว่าอาหารที่ได้รับเป็นประจำมีแคลเซียมไม่เพียงพอ อาจพิจารณาการใช้แคลเซียมเสริมอาหารมาช่วยอีกทางหนึ่ง

ปริมาณแคลเซียมที่ควรได้รับต่อวัน

- ทารก อายุ 0-6 เดือน
 210  มก.
- ทารก อายุ 6-12 เดือน
 270  มก.
- เด็กเล็ก อายุ 1-3 ปี
 500  มก.
- เด็กโต อายุ 4-8 ปี
800  มก.
- วัยรุ่น อายุ 9-24 ปี
 1,200-1,500  มก.
- อายุ 25-50 ปี
 1,000 มก.
- ผู้หญิงมีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร
 1,200-1,500 มก.
- ผู้หญิงอายุ 51-65 ปี (ที่ได้รับฮอร์โมนทดแทนในวัยหมดประจำเดือน)
1,000  มก.
- อายุ 50 ปีขึ้นไป (ที่ไม่ได้รับฮอร์โมนทดแทนในวัยหมดประจำเดือน)
1,500  มก.
- ผู้หญิงอายุ 65 ปีขึ้นไป
 1,500  มก.
และปริมาณวิตามินดี ที่ควรได้รับต่อวัน ตั้งแต่
400-800 IU

(จากคำแนะนำของ NAS : US National Academy of Sciences และ NIH : National Institutes of Health สหรัฐอเมริกา)


ทั้งนี้ ทุกคนโดยเฉพาะคุณผู้หญิงทั้งหลาย สามารถเริ่มต้นสะสมมวลกระดูกได้ตั้งแต่วันนี้ ไม่ควรชะล่าใจ เพื่อให้เรามีต้นทุนกระดูกที่ดีพอไว้ใช้ เมื่อยามถึงวัยสูงอายุ หลีกเลี่ยงภัยจากโรคกระดูกพรุนในที่สุด

 

 
       
    แหล่งข้อมูล : นิตยสาร HealthToday  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
ปรับชีวิตให้สมดุลทุก 10 ปี
 
สารพันสงสัยยามวัยทอง
 
แก้อาการวูบวาบในวัยทองด้วยถั่วเหลือง
 
ปวดเบาแต่หนักเกินทน!
 
โรคกระดูกพรุน
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.