หลายคนคงจะเคยทราบว่า จิตใจมีผลต่อโรคทางกายมากมาย อย่างที่เขากล่าวไว้ว่า จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว ซึ่งโรคหัวใจ ก็ดูเหมือนจะเป็นโรคทางกายอีกโรคหนึ่ง ที่เป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากจิตใจเช่นเดียวกัน ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อเป็นโรคนี้แล้ว กลับมีผลส่งย้อนมาสู่จิตใจอีกด้วย จึงเป็นเสมือนปฏิกิริยาสะท้อน ที่เกิดขึ้นระหว่างจิตใจกับโรคหัวใจ ฉะนั้นผมในฐานะของจิตแพทย์ ขอหยิบยกเรื่องราวในส่วนนี้ มานำเสนอให้ทราบว่า จิตใจกับโรคหัวใจนั้น มีส่วนสัมพันธ์โยงใยนอย่างไร
ก่อนอื่นผมขอให้คุณลองสังเกตคนใกล้ชิด หรือคนที่คุณรู้จัก ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจสักนิดว่า สภาพจิตใจ และบุคลิกภาพเดิมก่อนที่เขาจะป่วย และหลังจากป่วยแล้ว เขาเป็นเช่นไร เพราะสิ่งที่ผมจะกล่าวต่อไปนั้น เป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ ของจิตใจกับโรคหัวใจ ซึ่งจะทำให้คุณได้มองเห็น และเข้าใจผู้ป่วยโรคหัวใจมากยิ่งขึ้น โดยผมได้แยกรายละเอียดออกเป็น 2 ประเด็นหลัก ดังนี้
ประเด็นที่ 1 : พื้นฐานด้านจิตใจ และบุคลิกภาพ ที่ส่งผลให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ
พบว่าโรคหัวใจแต่ละประเภท จะมีความเกี่ยวเนื่องกับ พื้นฐานทางด้านจิตใจแต่เดิม และบุคลิกภาพของผู้ป่วยแต่ละคน แตกต่างกันไป อาทิเช่น
|
|
โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ หรืออุดตัน จะพบมากในคนที่มีบุคลิกภาพก้าวร้าว ย้ำทำ ละเอียดละออ ขาดความอดทน อารมณ์ไม่แน่นอน และโกรธง่ายเมื่อมีความเครียด หรือเรียกอีกอย่างก็คือ พวกที่ชอบสร้างความเครียดให้กับตนเอง
|
|
|
โรคความดันโลหิตสูง มักจะเกิดกับคนที่ชอบแสดงอารมณ์ ออกมาอย่างรุนแรง โดยที่ไม่สามารถควบคุมได้ จะมีอารมณ์ที่มากกว่า การโกรธทั่วๆ ไป อย่างเช่น กรี๊ดร้อง หรืออีกนัยหนึ่ง ก็คือ พวกโมโหร้ายนั่นเอง
|
|
|
โรคหัวใจล้มเหลว จะเกิดขึ้นได้บ่อยในพวก ที่มักได้รับความกดดันจากสภาพภายนอก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม สังคม ครอบครัว การทำงาน ฯลฯ จนเกิดเป็นความเครียด หรือแม้แต่ในคนที่มีปมขัดแย้งในจิตใจ อันเนื่องมาจากปัญหาในอดีต ซึ่งทำให้เกิดความทุกข์ คุกรุ่นอยู่ภายในใจ เกิดเป็นความเครียดสะสมไว้เป็นเวลานาน จนในที่สุด จึงแสดงออกมาเป็นอาการของโรค
|
|
|
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เกี่ยวข้องกับเรื่องของความกดดันจากภายนอก เช่น เรื่องที่น่าตื่นเต้น ตกใจ น่ากลัว หรือปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ดังจะเห็นได้ชัดในกรณีที่เราตกใจ ก็จะรู้สึกใจสั่น หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ นอกจากนั้น การที่เป็นคนโกรธง่าย หายช้า หรือที่ว่าไม่รู้จักให้อภัย เจ้าคิดเจ้าแค้น ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้ป่วยเป็นโรคหัวใจประเภทนี้ได้ |
จะเห็นได้ว่าพื้นฐานทางด้านจิตใจ และบุคลิกภาพหลายๆ อย่าง ล้วนแล้วแต่มีส่วน ส่งผลต่อการเกิดโรคหัวใจ โดยมักจะก่อให้เกิดความเครียด และค่อยๆ สะสม พัฒนาไปจนมีผลต่อหลอดเลือด และป่วยเป็นโรคหัวใจในที่สุด ฉะนั้น หากคุณต้องการที่จะลดความเสี่ยง ของการป่วยเป็นโรคหัวใจลง ก็ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดความเครียด หรือถ้าเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องรีบจัดการกับความเครียดนั้น ให้หมดไปโดยเร็วที่สุด ไม่ว่าจะด้วยวิธีการนั่งสมาธิ ฝึกจิตใจให้สงบ ผ่อนคลายจิตใจ ปรับจิตใจตนเอง ออกกำลังกาย หางานอดิเรกทำ รวมทั้งการเข้าพบจิตแพทย์ เพื่อรับการรักษาด้วยวิธีการใช้ยา หรือจิตบำบัด
ประเด็นที่ 2 : ปฏิกิริยาทางด้านจิตใจ ของผู้ที่ทราบว่า ตนเองป่วยเป็นโรคหัวใจ
พบว่า เมื่อผู้ป่วยทราบว่าตนเองป่วยเป็นโรคหัวใจ มักจะมีปฏิกิริยาทางด้านจิตใจ ต่อการป่วย ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งผมจะขอกล่าวถึงเฉพาะปฏิกิริยา ที่สร้างปัญหาให้แก่ผู้ดูแล และแพทย์ รวมทั้งมีผลทำลายสุขภาพ ของตัวผู้ป่วยเองให้เสื่อมโทรมลง
|
|
กลัว ผู้ป่วยบางคนจะกลัวมาก กลัวจนไม่กล้าทำอะไรที่เคยทำได้ คอยแต่มุ่งรักษาสุขภาพตัวเอง และคอยเรียกร้องให้คนช่วยเหลือตลอดเวลา จนญาติผู้ดูแลเบื่อหน่าย และเครียดมาก ในการเฝ้าปรนนิบัติดูแล เพราะผู้ป่วยจะทำตัวเหมือนเด็กแบเบาะ ที่ต้องการการดูแล เอาใจ อย่างมาก
|
|
|
วิตกกังวล ผู้ป่วยจะสับสนกับการป่วยของตนระหว่าง มีความหวัง กับสิ้นหวัง โดยจะแสดงออกเป็นความวิตกกังวล ถามซ้ำๆ เพื่อย้ำความแน่ใจ ซึ่งทำให้ผู้ดูแล รวมทั้งแพทย์ เหนื่อยในการตอบคำถามเดิมๆ จนเปลี่ยนเป็นความรำคาญ และกลายเป็นความห่างเหิน ไม่อยากสนใจผู้ป่วยอีก ผู้ป่วยก็จะยิ่งวิตกกังวลมากขึ้น และสร้างความรำคาญมากขึ้น ซึ่งในที่สุด หากผู้ป่วยมีอาการทรุดลงจริงๆ อาจจะไม่ได้รับการตรวจพบก็ได้
|
|
|
ปฏิเสธ เป็นการที่ผู้ป่วยใช้กลไกทางจิตอย่างหนึ่ง ด้วยการไม่ยอมรับกับความจริง ซึ่งพบมากในผู้ป่วยที่เคยแข็งแรงดี ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมาตลอด ทำให้ผู้ป่วยยอมรับไม่ได้ว่าตนเองป่วย และจะปฏิบัติตนไม่เหมือนผู้ที่ป่วย จึงไม่ยอมกินยา ไม่ยอมปรับกิจวัตรของตน รวมทั้งไม่ยอมมาพบแพทย์ตามนัด ยิ่งทำให้อาการของโรคทรุดหนักลง สร้างความหนักใจให้แก่ญาติผู้ดูแล และแพทย์ผู้รักษาเพิ่มมากขึ้น
|
|
|
ซึมเศร้า ท้อแท้ เมื่อผู้ป่วยทราบว่าตนเองป่วยเป็นโรคหัวใจ จะเกิดความรู้สึกสิ้นหวัง ในชีวิต คิดว่าชีวิตจบสิ้นแล้ว ทำให้แสดงออกในลักษณะของความซึมเศร้า หรือพยายามฆ่าตัวตายโดยทางอ้อม คือปฏิเสธการรักษาทั้งหมด เพื่อจะได้จากไปเร็วๆ กรณีนี้ญาติอาจเข้าใจว่า ผู้ป่วยปฏิเสธการรักษา แต่จริงๆ แล้ว ผู้ป่วยเสียใจอย่างรุนแรง และต้องการการปลอบ ประโลม และความเข้าใจ อย่างมากจากญาติ หรือคนใกล้ชิด |
การที่เราได้ทราบถึง ปฏิกิริยาทางด้านจิตใจเหล่านี้ ของผู้ป่วยโรคหัวใจ คงจะพอทำให้คุณเข้าใจ และให้การดูแล ประคับประคองจิตใจ ของพวกเขาได้มากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้อาการทรุดหนักลงไป หรือรักษาให้หายเร็วยิ่งขึ้น และตัวคุณเองก็จะอยู่กับพวกเขา ได้อย่างมีความสุข ไม่เครียดจนป่วยตามเขาไปอีกคน
มาถึงตรงนี้คุณคงจะพอเข้าใจ แล้วนะครับว่า จิตใจกับโรคหัวใจนั้น มีส่วนโยงใยเกี่ยวเนื่องกันอย่างไร แล้วคราวนี้ คุณก็จะได้เริ่มสังเกตคนรอบๆ ข้างคุณ และโดยเฉพาะตัวคุณเอง ว่ามีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจหรือไม่ จะได้หาทางป้องกันไว้ก่อน หรือถ้าเป็นแล้วก็ดูแลรักษาให้ถูกต้อง ไม่ต้องสร้างความหนักใจตามมาภายหลังครับ
นายแพทย์พฤฒ อิศรางกรู ณ อยุธยา
จิตแพทย์
|