หน้าแรก
ข้อมูลสุขภาพ
เว็บ สุขภาพ
ร้านอาหาร เพื่อสุขภาพ
เว็บ โรงพยาบาล
มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Multiple myeloma)
ข้อมูลสุขภาพ
สุขภาพใจ สุขภาพจิต
โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง
เบาหวาน
โคเลสเตอรอล
ไต
สุภาพสตรี
ผู้สูงอายุ
กระดูกและข้อ
ฟัน
โรคอ้วน
เฉพาะด้านอื่นๆ
สารอาหาร
ทั่วไป
 


ในทางการแพทย์แล้ว มะเร็งเม็ดเลือดขาวนั้น มีมากมายหลายชนิดกว่าที่รู้จักกันทั่วไป และมีรายละเอียดของโรคอยู่มาก แต่ในยุคนี้ ยังมีมะเร็งเม็ดเลือดขาวอีกชนิดที่ควรรู้จักกันครับ เนื่องจากพบมากเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มของมะเร็งเม็ดเลือดขาวทั้งหมด ที่พบในคนไทยเลยทีเดียว คือ มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด มัลติเพิล มัยอีโลมา (multiple myeloma) ไม่มีชื่อภาษาไทยให้เรียกครับ คงต้องเรียกกันทับศัพท์ยากๆ อย่างนี้ต่อไป มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดนี้ มีลักษณะพิเศษเฉพาะหลายอย่าง ที่ไม่เหมือนกับมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดอื่นๆ ที่สำคัญคือยังไม่ทราบสาเหตุของโรคนี้ด้วย

คนที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว มัลติเพิล มัยอีโลมานี้ มักจะมีอาการที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเลยทีเดียวก็ว่าได้ คือ ปวดหลัง ปวดกระดูก ร่วมกับโลหิตจาง ถ้าเกิดในคนสูงอายุ ต้องระวังให้ดี ตรวจเช็คอย่างละเอียดโดยแพทย์ หากละเลยอาจทำให้โรคเข้าสู่ระยะลุกลามมาก การดูแลรักษาจะทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร และเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้

อาการที่เป็นเอกลักษณ์

โรคนี้อาจมีอาการแสดงได้หลายอย่าง เช่น มีอาการปวดหลัง ปวดกระดูก เกิดจากกระดูกมีรูพรุนไปหมด เพราะเซลล์มะเร็งปล่อยสารบางชนิดออกมา ทำให้แคลเซียมละลายออกมาจากกระดูก จนเกิดเป็นรูพรุน โดยทั่วไปมักจะเกิดกับกระดูก หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรัง (chronic leukemia) ส่วนที่มีลักษณะแบนๆ เช่น กระดูกกะโหลกศีรษะ กระดูกเชิงกราน กระดูกขา เป็นต้น ทำให้กระดูกหักง่าย บางคนพลิกตัวนิดเดียว กระดูกซี่โครงก็หักแล้ว บ่อยครั้งที่พบว่า มีอาการเจ็บปวดภายหลังจากไปหาหมอนวดมา เมื่อมาหาหมอจริงเลยส่งไปเอกซเรย์ พบว่ามีกระดูกหัก ตรวจไปตรวจมาพบว่าเป็นโรคนี้ก็มีบ่อยครับ

จากที่มีการละลายของแคลเซียม ออกมาจากกระดูก จึงทำให้ตรวจได้ว่า มีปริมาณแคลเซียมในเลือดสูง ภาวะที่ตามมาคือก็คือ มีอาการซึม ไม่โต้ตอบ ท้องผูก ปัสสาวะออกน้อย เป็นต้น

นอกจากนี้คนที่เป็นโรคนี้ จะมีปริมาณโปรตีนในเลือดสูงมากขึ้นผิดปกติด้วย ศัพท์แพทย์เรียกว่า “โกลบูลิน” เมื่อมีโปรตีนในเลือดสูงขึ้น สิ่งที่จะเกิดตามมาก็คือ เลือดจะมีความหนืดมากขึ้น จึงทำให้เกิดอาการหลายอย่างจากที่เลือดหนืดมาก เช่น อาการทางสมอง คือมึนงงจากที่เลือดไปเลี้ยงสมองไม่ดี หรืออาจเกิดเส้นเลือดอุดตันได้ หากเลือดหนืดมากๆ บางคนอาจไปพบแพทย์ เนื่องจากมีปัญหาเรื่องไต คือเกิดภาวะไตวายขึ้น เนื่องจากสาเหตุหลักสองประการ คือ โปรตีนที่ผิดปกติที่เซลล์มะเร็งสร้างขึ้น ไปมีพิษต่อไต และปริมาณของแคลเซียมที่สูงขึ้นในเลือด ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำร้ายไตเช่นกัน

บางคนอาจจะมีลิ้นโตคับปาก เนื่องจากการที่มีโปรตีนที่ผิดปกติ ไปสะสมอยู่ที่บริเวณลิ้น ทำให้พูดไม่สะดวก รับประทานอาหารไม่สะดวก บางคนอาจมีจ้ำเลือดสีคล้ำๆ ขึ้นตามตัว แขน ขา เนื่องจากโปรตีนที่ผิดปกติ ไปจับกับสารที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด ทำให้เกิดภาวะเลือดออกผิดปกติได้

นอกจากนี้ บางคนอาจมาด้วยอาการปวดเมื่อย ตามเนื้อตัวโดยไม่รู้สาเหตุ ไปพบแพทย์มาหลายสาขา ก็หาสาเหตุไม่พบ หรือบางคนมาพบแพทย์แผนกกระดูก เพราะกระดูกหัก จะเห็นว่าโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดนี้ เป็นโรคที่แพทย์อาจให้การวินิจฉัยยาก มีอาการทางคลินิกที่หลากหลาย หากตรวจไม่ตรงจุด อาจทำให้การวินิจฉัยโรคล่าช้าได้

รักษาได้ไหม ?

มีหลายวิธีครับ โดยทั่วไปมักจะเริ่มต้น ด้วยการให้ยาเคมีบำบัด เพื่อควบคุมโรคให้ได้ก่อน ยาเคมีบำบัดที่ให้ส่วนใหญ่ ผลข้างเคียงไม่มากนัก แต่หากจะให้อาการดีขึ้นไปอีก อาจต้องทำการปลูกถ่ายไขกระดูก ซึ่งในบางกรณีต้องทำถึงสองครั้งในคนๆ เดียวกัน หากผลการรักษายังไม่เป็นที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตามในคนสูงอายุ หรือสภาพร่างกายไม่แข็งแรงพอ อาจจะให้ยา เพียงเพื่อควบคุมโรคไม่ให้ลุกลาม เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ นอกจากนี้ในบางคนหากมีอาการปวดกระดูกมาก หรือมีก้อนของเนื้อร้ายเกิดขึ้น ในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งของร่างกาย ก็อาจต้องใช้การฉายรังสีเข้าช่วยอีกทางหนึ่ง

หลายคนอาจกังวลกับคำว่า “มะเร็ง” และ “ยาเคมีบำบัด” แน่นอนครับต้องยอมรับว่า “ทำใจยาก” แต่ปัจจุบันมียาใหม่ๆ ที่ใช้รักษาโรคนี้ที่ผลข้างเคียงไม่มานัก ผลการรักษาดีพอสมควร ใช้กรณีที่ดื้อต่อยาที่ให้กันโดยทั่วไป เช่น ยาโบติโซมิบ (Botezomib) ทัลลิโดมายด์ (Thalidomide) แต่ยาพวกนี้ส่วนใหญ่แล้วราคาจะค่อนข้างสูง ใช้แล้วโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวอาจดีขึ้น แต่โรคทรัพย์จางอาจจะตามมาได้ครับ

มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัลติเพิล มัยอีโลมานี้อาการเข้าข่ายโรคอื่นๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นโลหิตจาง โรคข้อกระดูก กระดูกพรุน ฯลฯ ทำให้ไปหาแพทย์เฉพาะทางเหล่านั้น จึงอยากให้ตระหนักว่าหากมีความผิดปกติต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นร่วมกัน ก็จำเป็นที่แพทย์ต้องตรวจอย่างละเอียด เพื่อค้นหาสาเหตุโรคแท้จริง ซึ่งอาจต้องปรึกษาโลหิตแพทย์ร่วมด้วยครับ

 

ร.ศ.พ.อ.นพ.วิเชียร มงคลศรีตระกูล
ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา

 
       
    แหล่งข้อมูล : นิตยสาร HealthToday  
   
ข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้อง
 
มะเร็ง...ตัวร้าย
 
การตรวจหามะเร็งในระยะเริ่มแรก
 
มะเร็งเม็ดเลือดขาว (ลิวคีเมีย - Leukemia)
 
มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
 
กินเป็น อยู่เป็น ไม่เป็นมะเร็ง
 
   
 
 
Copyright © 2007 - 2009 by yourhealthyguide.com All rights reserved.